ขอคิดก่อน … ที่จะเพิ่มฟีเจอร์นี้เข้าไป
ขอคิดก่อน … ที่จะสร้างฟีเจอร์นี้ให้ดีที่สุดยังไง
ขอคิดก่อน … ที่จะรับงานนี้
ขอคิดก่อน … ที่จะเพิ่มโปรดักท์ตัวนี้เข้ามา
ขอคิดก่อน … ที่จะรับงานนี้ด้วยระยะเวลาเท่าไร
ขอคิดก่อน … ที่จะจ่ายเงินจ้างคนนอก
ขอคิดก่อน … ที่จะรับคนเพิ่ม
ขอคิดก่อน … ที่จะขอเงินจากนักลงทุน
ขอคิดก่อน … ที่จะเลือกใช้วิธีการจัดการโปรเจกต์แบบไหน
ขอคิดก่อน … ที่จะออกแคมเปจน์กระตุ้นการขายแบบนี้
มันดูเหมือนจะเป็นสามัญสำนึกทั่วไปว่าเราต้องคิดก่อนทำ แต่น่าเหลือเชื่อที่เรากลับพบว่าการลงมือทำก่อนคิดให้ดีกลายเป็นเรื่องปกติในองค์กรทั่วไป มันคือจุดเริ่มต้นของการเดินผิดทิศผิดทาง รถไฟเมื่อตกรางแล้วกลับมาวิ่งได้เหมือนเดิมนั้นยากมาก … คิดอีกนิดก่อนตัดสินใจทำ เวลาที่เสียไปกับการคิดเพิ่มเติมนั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการลงมือทำเร็วเกินไป
หลังจากกลับมาเป็นผู้นำของแอปเปิ้ลอีกครั้งในปี 1997 สตีฟ จอบส์ลงมือปรับปรุงโครงสร้างโปรดักท์ครั้งใหญ่ด้วยการยกเลิกและตัดทิ้งโปรดักท์หลายตัว (เช่น จากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่มี 15 โมเดลเหลือแค่หนึ่ง) … หลายคนคิดว่า อืมม ก็แค่ตัดเรื้อร้ายทิ้งไปทำให้เรารอดตายแต่ยังไม่เห็นมีอะไรใหม่ๆที่จะทำให้เราแข็งแรงและสดชื่นได้เลย
มีนักกลยุทธ์คนนึง (ริชาร์ด รูเมลท์ — Richard Rumelt) มีโอกาสได้สัมภาษณ์สตีฟ จอบส์แบบตัวต่อตัว
“กลยุทธ์ระยะยาวของคุณคืออะไร?” — รูเมลท์ยิงคำถามแบบไม่อ้อมค้อม
จอบส์แค่ยิ้มมุมปากแล้วตอบกลับไปว่า
“ผมจะรอสิ่งใหญ่สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้น (I am going to wait for the next big thing.)”
และเราก็เห็นสิ่งใหญ่สิ่งใหม่จากแอปเปิ้ลที่พลิกโฉมโลกใบนี้ ไอพอด ไอโฟน ไอแพด
ท้ายที่สุดแล้วการรอคอยและการคิดอย่างไตร่ตรองเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ฉลาดที่สุดที่เราจะมีได้