👇🏽 ปั้นแนวลึก

ลึกๆแล้ถ้าเราเป็นคนชอบทำอะไรเองคนเดียว นั่นอาจจะเป็นเพราะเราเป็นผู้ตามที่แย่และต้องการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ไม่ค่อยไว้ใจแบ่งงานให้ใครเท่าไรและถ้าเป็นไปได้ก็พร้อมลงทุนลงแรงทำเอง

เราอาจจะไม่ค่อยคลั่งไคล้ไอเดียที่ต้องฝากความหวังไว้กับคนนอกหรือพาร์ทเนอร์ รู้สึกไม่ค่อยดีเสมอเมื่อพูดถึงคำว่า “เอ้าซอร์ส” และมันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เช่นกันที่บริษัทเล็กๆจะทำอะไรทุกสิ่งอย่างได้เพียงลำพัง มันเป็นความขัดแย้งที่ยากจะปฏิเสธ

การรวมตัวแนวลึก (Vertical Integration) คือการที่ใครหรือองค์กรใดเลือกที่จะควบคุมกระบวนการทางธุรกิจจากบนลงล่าง เช่น ในห่วงโซ่อุปทานของข้าวสารหนึ่งถุงตั้งแต่

  1. การปลูกข้าว
  2. การเก็บเกี่ยว
  3. การแปรรูป
  4. การจัดส่ง และ
  5. การขายหน้าร้าน

เราเป็นเจ้าของขั้นตอนไหนบ้าง? สมมติว่าเราคือเจ้าของแบรนด์ เราอาจจะเชี่ยวชาญและจัดการอย่างเบ็ดเสร็จแค่ขั้นตอนที่สาม — การแปรรูป เพราะข้าวมาจากชาวนาทั่วไป การจัดส่งก็จ้างรถขนส่งทั่วไป และการขายหน้าร้านก็ผ่านร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ แนวคิดที่จะสร้างการรวมตัวเชิงลึกคือการขยายอำนาจการควบคุมจัดการไปยังขั้นตอนอื่นๆในห่วงโซ่ด้วย ไม่ใช่แค่แปรรูปแต่เรายังเป็นเจ้าของแปลงนาและหน้าร้านเองเป็นต้น

การรวมตัวกันนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นไอเดียที่ดีเสมอไป ถ้าเราสามารถหาซื้อสินค้าหรือการบริการที่สมบูรณ์แบบได้จากซัพพลายเออร์หรือพาร์ทเนอร์ทั่วไปมันก็จะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าที่เราจะลงทุนและฝ่าฟันอุปสรรคในการเรียนรู้เพื่อที่จะสร้างความเชี่ยวชาญในงานขั้นตอนอื่นๆในห่วงโซ่ อย่างไรก็ตามถ้ากลยุทธ์หลักของเราต้องการการปรับเปลี่ยนในองค์ประกอบต่างๆอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องการที่จะเรียนรู้ถึงความมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างองค์ประกอบต่างๆแล้วมันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องเป็นเจ้าของและควบคุมองค์ประกอบเหล่านั้นไว้ทั้งหมด

รู้หรือไม่ว่าซาร่าเติบโตยิ่งใหญ่จนเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เพราะแนวทางการรวมตัวแนวลึก ในขณะที่หลายต่อหลายแบรนด์เอ้าซอร์สงานผลิตมายังประเทศที่ค่าแรงต่ำในแถบเอเชีย ซาร่าเลือกที่จะทำเองแทบทุกอย่าง การออกแบบและผลิตเสื้อผ้านั้นเกิดขึ้นที่สำนักงานและโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศสเปน การทำงานที่รวดเร็ว การสื่อสารและเปลี่ยนแปลงที่ปัจจุบันทันด่วน การประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างแผนกต่างๆทำให้ซาร่าเป็นผู้นำ “ฟาสต์ แฟชั่น” ตัวจริง ซาร่าไม่คิดถึงการลดต้นทุนเป็นตัวตั้งแต่พวกเขาคิดถึงประสิทธิภาพในการทำธุรกิจมาก่อน และมีแค่เสื้อยืดที่ผลิตซ้ำๆไม่กี่แบบเท่านั้นที่พวกเขาเลือกส่งต่อให้โรงงานในประเทศจีนผลิตให้เพราะมันซ้ำเดิมมันไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น เมื่อการเรียนรู้ในองค์ประกอบใดๆไม่ใช่เรื่องจำเป็นซาร่าก็ไม่จำเป็นต้องทำเอง

นี่เป็นแนวคิดทางธุรกิจที่ฉลาด 👏🏼👏🏽👏🏾

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *