💎 พฤติกรรมกับผลลัพธ์

เราให้นิยาม “โปรดักท์ที่ประสบความสำเร็จ” ว่าอย่างไร?

  • มีคนใช้เยอะ
  • ได้เรตติ้งดี
  • กอบโกยรายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
  • สร้างชื่อเสียงให้บริษัท
  • อะไรอีก?

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโปรดักท์นี้ประสบความสำเร็จ “แล้ว”? คำตอบง่ายๆคือการวัดผล เราต้องวัดผลดูว่า “ผลลัพธ์” ที่ได้นั้นดีหรือไม่ดี

  • ผู้ใช้ 1,000,000,000 คน?
  • เรตติ้ง 4.5+ ในแอพสโตร์?
  • รายได้ 500,000,000 ล้านบาท?
  • เป็นบริษัทอันดับหนึ่งในธุรกิจนี้?
  • อะไรอีก?

การวัดผลที่ผลลัพธ์ (Results) เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป มันง่าย รวดเร็ว และมีแรงดึงดูดให้ผู้บริหารระดับสูงให้ความสนใจ … ใครบ้างไม่ชอบตัวเลขเยอะๆ ผู้ใช้บวกรายได้แถมด้วยความเป็นอันดับหนึ่งในสามโลก

แต่อีกใจหนึ่งรู้สึกไม่ค่อยชอบวิธีการนี้เท่าไรเลย ทำไม? … เพราะผลลัพธ์ไม่ได้บอกความเป็นไปทั้งหมดของที่มาของคำว่า “โปรดักท์ที่ประสบความสำเร็จ”

ทำไมเราถึงมีผู้ใช้ตั้ง 1,000,000 คน? ทำไมเรตติ้งเราดีขนาดนั้น? ทำไมรายได้ถล่มทลายแบบไม่เคยเป็นมาก่อน? เพราะเราทุ่มทุนมหาศาลกับการโฆษณาและการตลาดใช่มั้ย? หรือเพราะเราอยู่ในธุรกิจที่ยังไม่มีคู่แข่ง? หรือเพราะเราเป็นเสือนอนกินอยู่ในธุรกิจนี้มานานแสนนาน? หรือเพราะเราฟลุ๊ก?

ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าโปรดักท์เรามีผู้ใช้แค่ 999,999 คน สร้างรายได้แค่ 498,899,999 บาทหละ แบบนี้ถือว่าเฟลล์มั้ย? ด้วยความพยายามอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว เราเฟลล์?

โปรดักท์อาจจะล้มเหลวด้วยหลายสาเหตุถึงแม้เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว ในทางกลับกันโปรดักท์อาจจะประสบความสำเร็จถึงแม้เราจะไม่ได้ลงแรงอะไรมากมายเลย — เฮนริก คนิเบิร์ก

การวัดผลที่ผลลัพธ์จึงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องและควรจะถูกเลือกใช้เสมอไป เพราะมันไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืนและเป็นที่พึ่งของเราได้ในอนาคต …

การวัดผลที่พฤติกรรม (Behaviors) หรือแนวทางที่เรา “เชื่อว่า”จะนำมาซึ่งความสำเร็จต่างหากที่สำคัญ

  • มีช่องทางได้รับฟีดแบ็กที่รวดเร็ว
  • การรีลีสเล็กๆแต่บ่อยๆ
  • การทำการศึกษาวิจัยผู้ใช้อย่างจริงจัง
  • ทีมเล็กแต่เป็นหนึ่งเดียวกัน
  • ให้ความสำคัญกับคำว่าคุณภาพ
  • ทำงานร่วมกับผู้ใช้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
  • พัฒนาปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ
  • ตรวจสอบและปรับตัวอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย
  • กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง กล้ารับผิดชอบ
  • อะไรอีก?

ถ้าเราเชื่อในสิ่งเหล่านี้ เชื่อว่ามันเป็นเส้นทางที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน เราต้องออกแบบการวัดผลให้เหมาะสมเพราะสุดท้ายแล้วเราจะได้พฤติกรรมอย่างที่เราให้รางวัล (You’ll get the behaviors you reward.)

มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองข้ามตัวเลขที่ดึงดูดใจแล้วเฟ้นหาอะไรที่ลึกซึ้งและส่งเสริมพฤติกรรมและวัฒนธรรมอันดีในองค์กร 🙂

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *