มันเป็นความหงุดหงิดเมื่อเห็นความไม่จรรโลงใจในทางแนวคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่มีอำนาจมากกว่าคนอื่นๆ
เหตุการณ์สมมติที่เกิดขึ้นจริงถี่ๆ (ถี่เกินไป)
พนักงานต้องตอกบัตรเข้าทำงาน … แต่ผู้บริหารไม่ต้อง ทำไม?
เพราะแนวคิดนี้มันเกิดขึ้นเมื่อผู้บริหารมองว่าตัวเองมีความรับผิดชอบและพนักงานทั่วไปไม่มีหรือมีน้อย ดังนั้นต้องมีมาตรการมาตรวจสอบเรื่องนี้
คำถามคือเอามาตรฐานอะไรมาวัดว่าผู้บริหารต้องมีความรับผิดชอบและมีวินัยมากกว่าพนักงานคนอื่น? มันวัดกันยาก มันวัดกันไม่ได้
เมื่อถึงจุดที่มีคนตั้งข้อสังเกตขึ้นมา ผู้บริหารก็จะเริ่มพูดถึงคำว่า “สิทธิส่วนบุคคล” ฉันจะมาทำงานกี่โมง จะออกไปกินข้าวกี่โมง กลับบ้านกี่โมง เดินไปคุยกับใคร เข้าประชุมเมื่อไร … มันเรื่องของฉัน ห้ามมาก้าวก่าย
แต่ผู้บริหารคนเดียวกันกลับมีดำริว่า “ไปหาระบบแทรคเซลล์ทีมหน่อยสิ วันนี้ไปไหน ไปเจอลูกค้าที่ไหน อยู่ตรงนั้นนานเท่าไร ขับรถกลับบ้านขึ้นทางด่วนจริงมั้ย?”
แล้วอันนี้มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมั้ยหละนั่น?
มือถือศาล ปากถือศีล … รึเปล่า?
หลายครั้งรับรู้และรับฟังและเห็นมากับตาจนเบื่อ มันน่าหงุดหงิดกับการหลบเลี่ยงพร้อมหาข้ออ้างเมื่อตัวเองเสียประโยชน์ แต่กลับใช้ตรรกะตรงข้ามในการบังคับคนอื่นให้ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ยอมทำ
มันใช้ไม่ได้ … ยิ่งกับคนที่มีอำนาจสูงกว่า เพราะทางเลือกที่ดีกว่าคือการทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ยอมอยู่ใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน ในระบบเดียวกัน ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า “ผมมีอำนาจในมือที่จะสั่งการหรือออกกฎอะไรก็ได้ แต่ผมเต็มใจทำในสิ่งที่ทุกคนต้องทำภายใต้มาตรฐานเดียวกัน”
แนวคิดและมายเซ็ตมันบอกได้ทุกอย่างจริงๆ 😐