ในการเล่าเรื่อง (ทุกอย่างในตอนนี้คือการเล่าเรื่อง — การเขียนรายงาน การนำเสนอไอเดีย การคิดแผนการตลาด การเขียนใบสมัครเพื่อขอทุนสนับสนุน การเตรียมตัวขึ้นเป็นวิทยากร การเขียนรีไควเม้นต์สเปค การเขียนบทความ การวางพล๊อตเรื่องสำหรับวิดีโอ และอื่นๆอีกมาก) สิ่งที่เราต้องทำเป็นอันดับต้นๆคือการร่างสารบัญ
เพราะสารบัญคือสิ่งที่จะทำให้เราไม่หลงประเด็น มันเป็นไกด์ไลน์ที่เรากลับไปตรวจสอบเนื้อหาได้ตลอดเวลาว่าเรายังอยู่ในประเด็นหรือไม่
- วัตถุประสงค์ — เราต้องการจะได้อะไรการเล่าเรื่องครั้งนี้
- แรงบันดาลใจ — เราเริ่มต้นทำรีเสิร์จหาแนวทางและเทคนิคในการเล่าเรื่อง
- สารบัญ — เราเรียบเรียงเรื่องราวอย่างไรให้น่าสนใจ
- เนื้อหา — เราลงมือแปลวัตถุประสงค์และแรงบันดาลใจให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างตามสารบัญ
เพราะหลายครั้งที่เมื่อเราลงลึกไปในรายละเอียด (เนื้อหา) เราจะลืมภาพใหญ่ (สารบัญ) จนผลลัพธ์สุดท้ายออกมาไม่ตรงสิ่งที่หวังไว้ (วัตถุประสงค์)
ต่อให้เราเล่าเรื่องมานับครั้งไม่ถ้วน มีประสบการณ์มาเยอะ แต่เมื่อต้องเริ่มต้นใหม่ … ทุกครั้งเราควรต้องเขียนสารบัญ เขียนไว้ชั่วคราว เขียนไว้เป็นเครื่องเตือนสติ เขียนไว้เพื่อตรวจสอบตัวเองว่ายังอยู่ในร่องในรอยมั้ย
บางครั้งสารบัญคุมบังเหียนให้เรา และหลายครั้งสารบัญก็ถูกดัดแปลงเพิ่มเติมเมื่อเราค้นคว้าเจอเนื้อหาที่น่าสนใจกว่าสิ่งที่เราเคยคิดไว้ มันจึงเป็นการเล่าเรื่องแบบอาศัยหลักการอะไจล์เล็กน้อยนั่นคือ ตรวจสอบ (Inspect) และปรับปรุง (Adapt)
และเราจะทำแบบนั้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ก่อนว่าจะตรวจสอบอะไร (ด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์และสารบัญ) … การปรับปรุงที่ดีถึงจะตามมา