ความอันตรายที่ซ่อนอยู่ในการมีคนมากเกินไปคือความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของและความรับผิดชอบในงานที่ลดลง มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักที่ความรู้สึกหลวมๆผ่อนๆจะเกิดขึ้นกับคนเก่าเมื่อเห็นคนใหม่เดินเข้ามาในทีม
“เพราะตอนนี้ฉันไม่ได้เป็นเจ้าของมัน 100% แล้ว ถ้ามันผิดพลาดอย่างน้อยฉันก็ไม่ต้องโดนเล่นงานเต็มๆคนเดียว ถ้ามันสำเร็จฉันก็ไม่ได้เครดิตคนเดียวอีกเหมือนกัน … ฉันจะพยายามทำเท่าเดิมไปทำไม?” — ฟังดูเป็นทัศนะคติที่แย่แต่ก็มีอยู่จริงในองค์กรทั่วไป
การมีคนมากขึ้นนั้นอาจจะส่งผลให้มีการแบ่งความรับผิดชอบจากคนเก่าออกไป บางครั้งและหลายครั้งนั้นมากเกินไป มากจนบางคนเหลือหน้าที่ความรับผิดชอบนิดเดียว สโคปงานที่ต้องทำอาจจะเหลือแค่หนึ่งส่วนจากเดิมสามส่วนซึ่งมันน้อยเกินไป และความรับผิดชอบที่ถูกกระจายออกจะสร้างปัญหาใหญ่เพราะมันรวมกันยาก
- คนสามคน แบ่งสามงานขนาดใกล้เคียงกัน การรวมกันเป็นชิ้นงานสำเร็จมีแค่สามส่วน
- คนหกคน แบ่งหกงานขนาดใกล้เคียงกัน การรวมกันเป็นชิ้นงานสำเร็จต้องเกิดขึ้นหกส่วน
- คน 12 คน แบ่ง 12 งานขนาดใกล้เคียงกัน การรวมตัวคือ 12 ครั้ง 12 ขั้นตอน
นี่คือความอันตรายเพราะยิ่งรอยต่อมากก็ยิ่งมีรอยแตกมาก ยิ่งคนมากยิ่งจัดการยาก เราจึงควรจะตั้งคำถามในใจเสมอเมื่อได้ยินใครก็ตามบอกว่า “ทีมผมมีเดฟ 10 คน” หรือ “โปรดักท์นี้ช่วยกันทำแปดคนครับ” … อืมม ก็เข้าใจว่าบางงานมันยากและเยอะ ต้องการกำลังคนมากที่จะทำให้เสร็จ แม้กระนั้นก็ตามเราก็มองเห็นปัญหามากกว่าข้อดีจากการที่มีคนเยอะ และเราควรมีวิธีการจัดการเรื่องนี้ให้ได้ดีกว่านี้มั้ย?
- ถ้าเราวางแผนให้ดีและไม่ฝืนธรรมชาติเกินไป เราจะต้องการคนน้อยลง
- ถ้าเราไม่ใฝ่สูงเกินตัวและจับปลาหลายมือ เราจะต้องการคนน้อยลง
- ถ้าเรามีมาตรฐานในการคัดเลือกคนเข้าทีมที่ดี เราจะต้องการคนน้อยลง
เราต้องการคนน้อยเพื่อรักษาระดับความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของและความรับผิดชอบให้สูงเข้าไว้เพราะมันจะส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของงาน ต้องจำไว้ว่าจำนวนคนและขนาดความรับผิดชอบแปรผกผันกันเสมอ 🙅🏻♂️🙅🏼♀️