กับการทำงานทุกประเภท สิ่งที่เราเห็นกันจนคุ้นตาคือ “ไม่เห็นผลลัพธ์ตามคาด” และสิ่งที่เราได้ยินจนติดหูคือ “งานนี้เสร็จไม่ทันครับ” อาการดีเลย์เป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้ทุกวัน เกิดขึ้นได้กับทุกคน
สมัยนึงคำว่า “บัฟเฟอร์” เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาก “โปรเจกต์นี้เตรียมบัฟเฟอร์ไว้บ้างรึยัง?” คำว่าบัฟเฟอร์สมัยนั้นมักจะถูกผูกโยงกับเวลา เช่น การที่จะทำงานที่กำหนดมาทั้งหมดให้เสร็จต้องใช้เวลา 10 เดือน เราจะแอบเผื่อบัฟเฟอร์หรือกันชนไว้อีก 2 เดือนก่อนจะแจ้งกลับไปว่างานนี้ต้องใช้เวลา 1 ปี … เห็นชัดเจนว่างานนี้ฟิกซ์สโคปไว้ เวลาปรับได้แต่งานต้องเสร็จครบถ้วน กลยุทธ์แบบนี้จะใช้การได้ดีกับงานโปรเจกต์บางประเภท
สมัยนี้คำว่า “บัฟเฟอร์” อาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปสักหน่อย เพราะสโคปไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดแต่เป็นเรื่องของเวลา วันรีลีสถูกกำหนดมาแล้วแต่งานที่ต้องทำนั้นปรับเปลี่ยนได้ การกำหนดบัฟเฟอร์จึงต่างไป เช่น ด้วยเวลา 10 เดือนที่มี เราคิดว่าจะทำฟีเจอร์ได้ 6 ชิ้น แต่เราจะแอบเผื่อมาตรการเพื่อความปลอดภัยลงไปนิดนึง เราจึงบอกกลับไปว่าเราทำได้ 4 ฟีเจอร์ มันคือกันชนที่ปริมาณงานไม่ใช่ระยะเวลาอีกต่อไป
นี่คือการสร้างบัฟเฟอร์ระดับทีม … ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอในยุคนี้ เราต้องเริ่มหันมามองภาพที่ใหญ่ขึ้นกว่าทีม ที่ระดับองค์กร ด้วยทรัพยากรที่จำกัด — คน สมอง จิตใจ เงิน เวลา เราต้องสร้างกำแพงเพื่อความปลอดภัยอย่างพอเพียงให้ตัวเองมากกว่านี้
บัฟเฟอร์ระดับองค์กรคือจำนวนโปรดักท์ (หรือโปรเจกต์) ที่เรารับได้ในช่วงเวลานี้ ถ้าเราคิดว่าไหวที่ 3 โปรดักท์ ให้เลือกตอบไปว่า 2 โปรดักท์ ถ้าเราคิดว่าไหวที่ 5 โปรเจกต์ ให้เลือกตอบไปว่า 3 โปรเจกต์
เพราะเราจะมีปัญญาจัดการงานได้แค่นั้นจริงๆ แม้แต่เตรียมบัฟเฟอร์แล้วเราก็ยังกระอักเลือดทุกครั้งกว่าที่จะเข็นงานสักชิ้นนึงให้เสร็จอย่างสมบูรณ์