👠 เจ้าของโปรดักท์

ถ้าเลือกได้ … อย่าตั้งเป้าหมายแค่โปรดักท์​ โอนเนอร์

ตามนิยามที่ว่า คนคนนี้มีหน้าที่จัดการทีมพัฒนา รับรีไควเม้นท์ เลือกฟีเจอร์ จัดลำดับความสำคัญของงาน อธิบายงานให้ทีมพัฒนาฟัง ดูแลแบ็คล็อก ติดต่อประสานงานกับคนอื่นเพื่อให้งานราบรื่น … มันไม่ใช่ทั้งหมดของคำว่าการพัฒนาโปรดักท์

เราทำได้ดีกว่านี้ เราเป็นได้มากกว่านี้

โปรดักท์ โอนเนอร์ … คำว่าโอนเนอร์นั้นไม่มีอยู่จริงตราบใดที่ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยการ “รับรีไควเม้นท์” จากคนอื่น ไม่ว่าคนอื่นนั้นจะเป็นใครก็ตาม — หัวหน้า เจ้าของบริษัท ทีมอื่นในองค์กร พาร์ทเนอร์ ลูกค้า น่าเศร้าที่ต้องพูดว่าคนอื่นเหล่านั้นต่างหากคือเจ้าของโปรดักท์ที่แท้จริง

เราจะพอใจเพียงแค่นี้หรือ?

สิ่งที่โปรดักท์ โอนเนอร์ต้องทำในแต่ละวันเป็นแค่งานเพียงส่วนเดียวของโปรดักท์ เมเนเจอร์ คนที่จัดการโปรดักท์อย่างแท้จริง คนที่ต้องทำให้มั่นใจว่าโปรดักท์ที่สร้างมานั้นตอบโจทย์ที่ถูกตั้งไว้อย่างมีหลักการและเหตุผล แก้ปัญหาที่อยากจะแก้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในปัจจุบัน เป็นโปรดักท์ที่จะมีตลาดรองรับ มีคนยอมจ่ายเงินซื้อ มีพื้นที่ให้ขยายตัวและเติบโตในอนาคต — มันคือเรื่องคุณค่า

โปรดักท์ เมเนเจอร์ต้องมั่นใจว่าโปรดักท์ที่พัฒนาออกมาใช้งานได้ ใช้งานง่าย ผู้ใช้เข้าใจและหาประโยชน์จากมันได้จริง — มันคือการออกแบบ

โปรดักท์ เมเนเจอร์ต้องมั่นใจว่าโปรดักท์ที่เราคิดและอยากทำทั้งในตอนนี้และในอนาคตมันทำได้จริง ด้วยความสามารถของทีมเราที่มี ด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลกตอนนี้ — มันคือเรื่องทางเทคนิค

และโปรดักท์ เมเนเจอร์ต้องมั่นใจว่าโปรดักท์ที่ทำออกมาต้องตอบโจทย์ธุรกิจ ต้องขายได้กำไร ต้องมีต้นทุนทางเศรษฐศาสต์ที่สมเหตุสมผล — มันคือเรื่องธุรกิจ

ถามตัวเองหนักๆว่า วันนี้ถ้าฉันคือโปรดักท์​ โอนเนอร์ ฉันทำอะไรแค่ไหน? และจริงๆแล้วฉันอยากเป็นมากกว่านี้รึเปล่า? 👡

ถ้าอยากเป็น เราเป็นได้ แต่ด้วยการเปลี่ยนแนวคิด เปิดใจทำความเข้าใจว่า งานพัฒนาโปรดักท์มันคือธุรกิจ การเงิน การออกแบบ กลยุทธ์ ราคา พาร์ทเนอร์ กฎหมาย เทคนิค คู่แข่ง อุตสาหกรรม การขาย การตลาด กำไร ขาดทุน การซัพพอร์ตหลังการขาย เทคโนโลยี และลูกค้า

โปรดักท์ โอนเนอร์เป็นเพียงแค่หน้าที่หนึ่งของโปรดักท์ เมเนเจอร์มืออาชีพเท่านั้น

อย่าหยุดแค่นี้ อย่าทิ้งโอกาสอันดีไปเพราะงานโปรดักท์คือหนึ่งในงานที่ดีที่สุดในโลก งานที่สนุกและมีความท้าทายอย่างสูงยิ่ง เป็นงานที่มีภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง … ไม่ว่าจะทำโปรดักท์อะไรก็ตาม หน้าที่ของเราคือการแก้ปัญหาให้ผู้ใช้และสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ดีให้องค์กร (ไม่ใช่รับรีไควเม้นท์ ดูแลแบ็คล็อก และจัดประชุม)

ประเด็นมีอยู่นิดนึงว่าการจะหาโอกาสทำงานกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับโปรดักท์อย่างแท้จริง (Product-driven company) นั้นยากแสนยาก … เราจะวัดได้อย่างไรว่าองค์กรไหนเป็นและไม่เป็น เราดูได้จากบทสนทนาเริ่มต้น

องค์กรที่หาได้ทั่วไป — “นี่ ลูกค้าบอกมาว่าอยากได้แบบนี้ แล้วอันนี้เซลล์ก็ฝากเพิ่มตรงนี้มานะ” // การเริ่มต้นกับฟีเจอร์ กับโซลูชั่นที่ใครสักคนคิดมาแล้ว

องค์กรระดับโลก — “ทีมการตลาดค้นพบว่า ตอนนี้ยอดวิวของเราต่ำลงกว่าเดิม 15% กับผู้ใช้ในกลุ่มคนอายุ 45 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการสร้างรายได้ของเรา … ช่วยผมคิดหน่อยว่าเราจะทำยังไงกันได้บ้างครับ” // การเริ่มต้นด้วยที่มาที่ไป เหตุผล และปัญหารวมถึงเป้าหมายที่อยากเห็น มันคือการเริ่มต้นด้วยการมอบอำนาจให้โปรดักท์ เมเนเจอร์และทีมงานไปจัดการหาคำตอบมาให้

โปรดักท์ เมเนเจอร์ทำงานเพื่อเป้าหมายองค์กร เพื่อการเป็นตัวแทนของลูกค้าที่ต้องหาทางแก้ปัญหาให้พวกเขาอย่างดีที่สุด // โปรดักท์ เมเนเจอร์ไม่ใช่คนที่ทำงานตามคำสั่งและแน่นอนที่สุดว่าไม่ใช่คนที่ทำงานตามฟีเจอร์ในแบ็กล็อกไปวันๆ

นี่คือองค์กรที่เราต้องมองหา ที่เราต้องขวนขวายเข้าไปมีส่วนร่วมให้ได้ เพราะสภาพแวดล้อมแบบนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้เราได้พัฒนาไปได้อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆ ไม่ใช่ทำตามที่คนเดิมคนส่วนใหญ่สั่งสอนกันมา ไม่ใช่เพียงเพราะขอบเขตงานกำหนดไว้แค่นี้

หายาก และยากมากกับองค์กรแบบนี้ แต่ถ้าเราจริงจังกับตัวเอง … มองหาต่อไป อย่ายอมแพ้ ภาระหน้าที่ของคนที่อยากเป็นคนโปรดักท์มืออาชีพนั้นใหญ่หลวงยิ่งนัก เราติดค้างตัวเองมากขนาดนั้นที่จะต้องค้นหาต่อไปจนกว่าจะเจอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *