📐 180 องศา

ทิศทางที่เราควรเลือกเดินคือตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ เพราะคนส่วนใหญ่มักคิดผิด

สมมติว่าเรากำลังจะพัฒนาโปรดักท์ใหม่หรือแม้แต่ฟีเจอร์ใหม่ บังเอิญว่าเราไปเห็นว่าคู่แข่งรายหนึ่งของเรามีโปรดักท์หรือฟีเจอร์ที่ว่านี้แล้ว มันเริ่ดหรู มันอลังการ มันสมบูรณ์มากในความคิดของเรา

เราควรทำอย่างไร?

หนึ่ง … ตั้งเป้าหมายว่านั่นคือสิ่งที่เราต้องทำให้ได้และไปให้ถึง อะไรที่คู่แข่งมีฉันต้องมีด้วย พวกเขาเดินไปทางไหนฉันขอเดินไปด้วย ถ้าเราเลือกทางนี้แปลว่าเราคิดว่าฟีเจอร์คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อสินค้าของคนทั่วไป ลูกค้าที่ดีที่สุดคือคนที่ต้องการโปรดักท์ที่ดีที่สุดเท่านั้น …​ ไม่จริงหรอก

จริงๆลึกๆแล้วเราก็รู้ว่ามันไม่ใช่ ฟีเจอร์ ราคา โปรโมชั่น ความพึงพอใจ ความรู้สึกส่วนตัว และปัจจัยอื่นๆอีกเป็นร้อยที่มีผลต่อการตัดสินใจ

คู่แข่งของเราใช้เวลา 5 ปีในการพัฒนาโปรดักท์ตัวนี้ เรากำลังเริ่มต้น การจะวิ่งให้ทันพวกเขาเป็นไปไม่ได้ ในช่วงเวลา 2 ปีที่เราเร่งพัฒนาให้ทัน 5 ปีที่ผ่านมา …​ พวกเขาไปไกลแล้ว ทั้งในแง่ยอดขาย เทคโนโลยี แม้แต่การวิวัฒนาการไปของธุรกิจทั้งหมด

การเดินตามต้อยๆแปลว่า … เรากำลังหลงทางเข้าป่าอะเมซอน 🌳 🌲

สอง … ตั้งเป้าหมายว่าเราจะทำอะไรที่เล็กที่สุดเพื่อกลุ่มตลาดที่เล็กที่สุดที่โปรดักท์หรือฟีเจอร์ของคู่แข่งเข้าไม่ถึง (อาจจะเพราะใช้งานยากไป ราคาแพงไป) เราขอมองคู่แข่งเป็นแค่ตัวอย่างและกรณีศึกษา แต่เราจะค้นหาช่องและรูเล็กๆที่พวกเขามองข้าม มันอาจจะเป็นในแง่ของกลุ่มตลาด ราคา ฟีเจอร์ เทคโนโลยี

ผลลัพธ์ที่เราอยากเห็นคือโปรดักท์ใหม่เพื่อตลาดใหม่ขนาดเล็กในตลาดเก่าขนาดใหญ่ ประมาณว่าถ้าพวกเขาขายโรงพยาบาลอินเตอร์ เราขอโฟกัสไปที่คลีนิคในโซนสุขุมวิท มันคือเรื่องใกล้เคียงกันแต่แนวทางต่างกันอย่างยิ่ง

เราสามารถสร้างเกมของตัวเองได้ ด้วยการกำหนดขอบเขตของโปรดักท์ใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่าง (ไม่จำเป็นต้องดีกว่าคู่แข่งเสมอไป) รูปแบบและราคาขายใหม่ เราต้องหาทางเดินออกห่างจากคู่แข่งกลุ่มนั้นให้ไกลที่สุด

บางครั้งไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ขนาดโปรดักท์หรอก … แค่ฟีเจอร์หนึ่งก็น่าสนใจแล้ว เรามองมันด้วยหลักการเดียวกันได้ มันมีส่วนที่เป็นมาตรฐานที่ทุกระบบต้องมีเหมือนกัน แต่มีบางอย่างที่ยากเกินไปที่เราจะทำตอนนี้ เราเปลี่ยนมันให้เป็นสิ่งที่ง่ายกว่า (แต่ไม่ดีเทียบเท่า) หรือแม้แต่เราเลือกตัดมันทิ้งไปเลยด้วยหลักการที่ว่า “ลูกค้าของเราไม่สนใจอะไรที่หรูหราขนาดนี้หรอก”

ทางเดียวที่เราจะแข่งขันได้ในฐานะบริษัทหรือโปรดักท์เกิดใหม่คือการทำอะไรที่ตรงข้ามยักษ์ใหญ่ในวงการเข้าไว้ เราเลือกแนวทางที่ชัดเจน เดินหน้าและปรับตัวให้เรา … เราจะชนะได้ด้วยความยืดหยุ่นและการไม่มีภาระมาคอยเป็นตัวถ่วง

ภาระเช่น ลูกค้าเก่า พาร์ทเนอร์เก่า โค๊ดเก่า วัฒนธรรมการทำงานแบบเก่า ความเชื่อแบบเก่าๆ

อะไรที่คนอื่นมี …​ เราแค่รับรู้ไว้แต่ไม่จำเป็นต้องไปอิจฉาพวกเขาเลย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *