เมื่อหยิบปฏิทินมากางแล้วก็พบว่ามีงานรออยู่เยอะเลย
- ภายในไตรมาสแรกจะมี 3 งานให้ส่งมอบจากลูกค้ารายใหญ่ระดับประเทศ
- ภายในไตรมาสสองจะมีอีก 1 งานกับบริษัทค้าส่งระดับภูมิภาค
- ภายในไตรมาสสามจะมีอีก 1 งานใหญ่มากกับลูกค้าเก่าที่ทุนหนา
- ภายในไตรมาสสี่ก็มีโอกาสจะได้ขายของอีกชิ้นให้บริษัทยักษ์ใหญ่ (มาก)
รวมแล้ว 5–6 งานใหญ่
เราควรจะดีใจมั้ย?
มั้ง … แต่เราควรจะวิตกกังวลว่างานเหล่านี้มันมากเกินไปกับจำนวนทรัพยากรและเวลาที่เรามีรึเปล่า?
งานเหล่านี้มันจะเป็นโอกาสหรือ “ตัวฉุดรั้ง” ไม่ให้เราไปถึงยังเป้าหมายที่วางไว้กันแน่?
เกรงว่าจะเป็นอย่างหลังซะมากกว่า ปัจจัยสำคัญคือการลงทุนที่เราต้องจ่ายเพื่อให้ได้งานเหล่านี้มาและเพื่อส่งมอบพวกมันได้อย่างสมบูรณ์
ปัญหาคือตอนนี้เรายังไม่มีระบบสำหรับงานเหล่านี้เลย เราต้องสร้างใหม่ขึ้นมาทั้งหมด จริงอยู่ว่าเราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ แต่การเริ่มจาก 50% ก็ลำบากและต้องใช้พลังงานไม่ใช่น้อย
จริงอยู่ว่าเมื่อเรา “ทำเสร็จ” เราจะมีโอกาสขายซ้ำได้อีกเยอะ และนั่นคือจุดที่เราต้องไปให้ถึง การขายซ้ำๆด้วยโปรดักท์หรือระบบเดิม กำไรจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ลงทุนอย่างหนักกับการพัฒนาแล้วเริ่มต้นกระบวนการตลาดและการขายอย่างเต็มที่
ตอนนี้เราอาจจะยังอยู่ห่างไกลคำว่าทำเสร็จมากเลย ยิ่งถ้านับอีก 5–6 งานนี้ด้วยแล้ว … เราอาจจะไปไม่รอดเพราะจับปลาหลายมือเกินไป
ย้อนกลับมาที่การวางแผนระยะกลาง … ตอนนี้ไม่ใช่การมองหาโอกาสแต่เป็นการคัดเลือกโอกาสมากกว่า
การคัดเลือกเพื่อจะตัดงานที่ไม่เหมาะสมออกไป มันเป็นการเลือกที่ยากแต่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกโอกาสดูดีหมดและการตัดสินใจครั้งนี้เหมือนเป็นการทิ้งธุรกิจบางส่วนไปเลย
แต่ถ้าไม่ทำตอนนี้ เราอาจจะต้องทิ้งบริษัทไป อันนี้คือร้ายแรงที่สุด
บางครั้งและหลายครั้งการมีงานมากเกินไปก็ใช่จะดี ถ้างานนั้นคือการลงทุนครั้งใหญ่ งานนั้นเป็นงานที่ไม่ตรงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ งานนั้นเป็นงานเฉพาะหน้าและไม่สามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว
บริษัทเกิดใหม่ต้องการความรวดเร็ว และการมีงานมากก็ไม่ค่อยจะช่วยสนับสนุนเรื่องนั้นซักเท่าไร 🤦🏼♂️