เราคาดหวังอะไรจากคำว่าอาร์แอนด์ดี (R&D) … แน่นอนว่าเราต้องการความสำเร็จ แต่ไม่มีงานอาร์แอนด์ดีงานไหนที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่ความพยายามครั้งแรก ไม่มี ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
คำถามคือเรารอได้มั้ย? เรามีภูมิคุ้มกันทางความล้มเหลวมากแค่ไหน?
บางคนต้องการผลลัพธ์ทันทีทันใด บางคนมีกฎเกณฑ์เรื่องเวลามาควบคุม บางคนตั้งคำถามว่าทำไมเร็วกว่านี้ไม่ได้ บางคนไม่อยากเห็นความล้มเหลวเลยแม้สักครั้ง
และคนคนนี้ไม่ได้กำลังวางตัวเป็นผู้นำทีมอาร์แอนด์ดีแต่เป็นแค่เจ้าของโปรเจกต์ทีมที่ถูกครอบงำด้วยเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ — ทำของใหม่ ให้ขายดี ในเวลาหกเดือน นั่นไม่ใช่นิยามที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทำอาร์แอนด์ดีเลยสักนิด
กลยุทธ์คืออะไร? … ทำอะไรก็ได้ที่แปลกใหม่ให้เสร็จในเวลาสั้นๆและต้องขายดีด้วย … นี่ไม่ใช่กลยุทธ์ มันคือความเพ้อฝัน
งานอาร์แอนด์ดีนั้นแปลกและแตกต่าง … “ผมเห็นสัญญาณจากตลาดว่าหลายคนมีปัญหากับการเรียกแทกซี่ รอนานและคาดเดายาก เอามั้ยละ ลองดูสักตั้ง ลองหาทางแก้ปัญหานี้กันดู” — นี่คือจุดเริ่มต้นของอาร์แอนด์ดี มองปัญหาให้ชัดเจนแล้วเปิดช่องว่างไว้ให้ทีมงานเพื่อแก้ไข
“หนูคิดว่าลูกค้าเราเค้าไม่ชอบอ่านบทความยาวๆนะคะ หนูเลยคิดว่าเราน่าจะทดลองส่งบทความสั้นๆดู น่าจะได้การตอบรับที่ดีกว่า” — นี่คือจุดเริ่มต้นของอาร์แอนด์ดี ตั้งสมมติฐานและหาทางพิสูจน์สมมติฐานนั้น
“ผมลองเล่นกล่องนี้ดูแล้ว มันก็โอเคนะ แต่ผมคิดว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้นะครับ ผมว่าเราน่าจะลองใส่เซนเซอร์ตัวนี้เข้าไปเพิ่ม” — นี่คือจุดเริ่มต้นของอาร์แอนด์ดี จากความขัดใจในสินค้าแบบเดิมและมีแรงผลักดันที่อยากทำสิ่งที่ดีขึ้น
อาร์แอนด์ดีคือการเดินทางไปสู่ความล้มเหลวอย่างมีสติ และเพราะความล้มเหลวเท่านั้นที่จะช่วยให้เราขยับเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น
น่าเสียดายที่หลายคนไม่เข้าใจสัจธรรมข้อนี้ 👩🏻💻👨🏽💻