ผมเห็นมาบ้างที่โปรเจกต์ “ถูกลาก” ให้ยาวออกไปอย่างไม่สมเหตุสมผล มันไม่ใช่เรื่องของรีไควเม้นท์ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีขอบเขตหรือเพราะงานล่าช้าจากการวางแผนที่ผิดพลาด แต่มันเป็นเพราะแนวคิดของคนที่มีอำนาจ
เมื่องานติดขัด เมื่องานไม่เสร็จอย่างหวัง สิ่งแรกที่ผู้มีอำนาจคิดจะทำคือเพิ่มคนเข้าไป และเมื่อปัญหาทุกอย่างยังไม่คลี่คลายพวกเขาก็เลือกจะเปลี่ยนทีมงาน ด้วยความเชื่อที่ว่าที่ทุกอย่างมันย่ำแย่แบบนี้ก็เพราะคนทำงาน … ไม่มีความสามารถเพียงพอ ไม่มีประสบการณ์ช่ำชอง
ทุกครั้งที่เปลี่ยนทีมงาน พวกเค้าก็จะรีเซ็ตความคาดหวังใหม่ — ทุกอย่างต้องดี งานต้องวิ่งฉิว เป้าหมายต้องถูกพุ่งชน ผ่านไปสามเดือนพวกเขาก็ต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้งเมื่ออะไรๆก็ยังไม่ดีขึ้น แล้วก็ซ้ำรอยเดิม เพิ่มคน เปลี่ยนทีม รีเซ็ตความคาดหวัง และ … ผิดหวังอีกครั้ง
นี่คือสาเหตุที่บางโปรเจกต์ถูกลากให้ยาวออกไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
เมื่อแท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทีมงานแต่เป็นเรื่องของแนวคิดและการตั้งคำถาม แทนที่จะพยายามหาคำตอบว่า “ทำยังไงให้งานเสร็จ” ถ้าผู้มีอำนาจเปลี่ยนมุมมองมาเป็น “งานนี้ยังสำคัญอยู่จริงหรือไม่”
- ทำไมล่าช้า
- ทำไมทำไม่ได้
- ทำไมลูกค้ารายนี้ถึงมีปัญหาเยอะ
- ทำไมการทำธุรกิจกับบริษัทนี้ถึงมีแต่เรื่องยุ่งยาก
คำถามเหล่านี้ (ทางกลยุทธ์) สำคัญกว่าทำยังไงให้งานเสร็จ (ทางแนวปฏิบัติ) มากนัก ถ้าพวกเขาพยายามหาคำตอบเชิงกลยุทธ์ตั้งแต่ต้น การเพิ่มคนอาจจะไม่เกิด การเปลี่ยนทีมอาจจะไม่จำเป็น การเสียเวลาทำงานที่ไม่สร้างคุณค่าอาจจะลดลง
มันสำคัญที่เราต้องรู้ว่าจะเปิดโปรเจกต์ตอนไหน มันสำคัญยิ่งกว่าที่เราต้องรู้ว่าเราควรปิดมันตอนไหน เพราะยิ่งยาวยิ่งเสี่ยงต่อความล้มเหลวครั้งใหญ่