✍🏼 ความเสี่ยงกับความจริง

มันมีความแตกต่างกันอยู่ระหว่างความเสี่ยงและความจริง

ความเสี่ยงคือการรวมตัวกันของเหตุการณ์(ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้) และผลกระทบ (ที่อาจจะเป็นบวกหรือเป็นลบก็ได้) เช่น

ถ้าบริษัทเอเข้าเทคโอเวอร์บริษัทบี มูลค่าหุ้นในพอร์ตของเราจะพุ่งขึ้นไปอีก 45% — ถ้า … และผลลัพธ์เชิงบวก

ถ้าเรือล่มบริเวณน่านน้ำนี้ซึ่งมีฉลามชุกชุม เราอาจจะโดนรุมกินโต๊ะและตายในพริบตา — ถ้า … และผลลัพธ์เชิงลบ

นั่นคือความเสี่ยงเพราะเราไม่มั่นใจ 100% ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ และเราก็ไม่มั่นใจแบบเต็มร้อยอีกเช่นกันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นไปตามความคาดหมายเป๊ะๆ

ความเสี่ยงจึงเป็นการบริหารจัดการเพื่ออนาคต เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจเตรียมทรัพยากรให้พร้อมต่อสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

มีความเข้าใจผิดและสับสนนิดหน่อยระหว่างความเสี่ยงและความจริง และนี่คือความจริง

ถ้าเราไม่เทส เราจะเจอบั๊กและระบบจะล่ม — มันไม่ใช่ความเสี่ยงเพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพราะเราไม่เทส และเราก็รู้อีกว่าเราจะเจอบั๊กแน่นอน

นี่ไม่ใช่ความเสี่ยงแต่มันเป็นความจริงและความจริงที่เป็นปัจจุบันนั้นจัดการได้ด้วยการทำให้มั่นใจว่าเราจะต้องเทสระบบก่อน … จับมันใส่ลงไปในแผน หาคนรับผิดชอบเรื่องนี้ ติดตามตรวจสอบความคืบหน้าของงานตามความเหมาะสม

ถ้าอยากจะเขียนประเด็นนี้ให้ดูเป็นความเสี่ยงนิดนึงก็ลองพิจารณาแนวทางนี้ดู

ถ้าไม่สามารถหาคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทดสอบเรื่องเน็ตเวิร์คเข้ามาร่วมทีมได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคม มีโอกาสที่จะทำให้แผนการเทสทั้งหมดล่าช้าซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพและวันส่งมอบงาน

ความเสี่ยงคือเรื่องอนาคต … ความจริงคือเรื่องปัจจุบัน และแนวทางการจัดการทั้งสองเรื่องนี้ก็แตกต่างกันครับ 😌

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *