ประโยคข้างล่างนี้มาจากบทความของมาซิน วิคารี่ ที่อธิบายถึงเหตุผลของการปรับดีไซน์ครั้งยิ่งใหญ่เมื่อหลายปีก่อนของ Medium.com
Many writers use big screens, but most readers use small screens. — Marcin Wichary
วินาทีแรกที่อ่าน ผมรู้สึกเหมือนดวงตาเห็นธรรม (มันรู้สึกแบบนั้นจริงๆ) เหมือนกระแสไฟฟ้าวิ่งจากสมองไปทั่วร่างกาย (มันสัมผัสได้แบบนั้นจริงๆ) — “มันถูกของเค้าหวะ” นี่คือสิ่งที่ผมคิดได้ในทันที
- มันคือความจริงที่ว่าผู้ใช้ไม่ได้ด้านเดียว ไม่ได้มีกลุ่มเดียว ไม่ได้มีความต้องการและพฤติกรรมเหมือนกันทั้งหมด
- มันคือความจริงที่ว่าการตัดสินใจด้านการออกแบบไม่สามารถทำได้ด้วยการพิจารณาจากมุมมองของผู้ใช้ด้านเดียวหรือกลุ่มเดียว และ
- มันคือความจริงที่ว่าโปรดักท์ของเราจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวส่วนหนึ่งอยู่ที่การสร้างความสมดุลที่ลงตัวระหว่างความต้องการของผู้ใช้แต่ละกลุ่ม
ผมนึกไม่ออกว่าเคยเห็นซอฟต์แวร์โปรดักท์ไหนที่มีผู้ใช้แค่กลุ่มเดียว
- ถ้ามีผู้เขียน ก็ต้องมีผู้อ่าน
- ถ้ามีคนตั้งกระทู้ ก็ต้องมีคนตอบกระทู้
- ถ้ามีคนส่งข้อความ ก็ต้องมีคนรับ
- ถ้ามีคนขาย ก็ต้องมีฝ่ายผู้ซื้อ
- ถ้ามีตากล้อง ก็ต้องมีคนชอบดูรูป
- ถ้ามีคนอ่านรายงาน ก็ต้องมีคนอินพุตข้อมูล
- ถ้ามีคนใช้ ก็ต้องมีคนเซ็ตอัพและซัพพอร์ต
ไม่ว่าจะเป็นเพอซัลนัล, โซเชี่ยล หรือเอ็นเทอร์ไพรส์ ซอฟต์แวร์ … การระบุกลุ่มผู้ใช้ให้ครบถ้วน การเข้าถึงความต้องการและพฤติกรรมที่แตกต่างกันเป็นเรื่องสำคัญ เราควรเริ่มต้นอย่างไร?
เริ่มต้นจาก “การคิดให้จบ” ที่มาคืออะไร ที่ไปอยู่ตรงไหน ตัวอย่าง นี่คือเวิร์คโฟลของการตั้งตอบและลบกระทู้ของเวปบอร์ดแห่งหนึ่ง
- สร้างห้องแบ่งประเภทกระทู้ — ใครสร้าง?
- ตั้งกระทู้ — ใครตั้ง?
- อ่านกระทู้ — ใครอ่าน?
- ตอบกระทู้ — ใครตอบ?
- แจ้งลบข้อความที่ไม่เหมาะสม — ใครแจ้ง?
- รีวิวการแจ้งลบข้อความที่ไม่เหมาะสม — ใครรีวิว?
- ลบข้อความที่ไม่เหมาะสม — ใครลบ?
- แบนยูสเซ่อร์นิสัยเสีย — ใครแบน?
เวิร์คโฟลง่ายๆแบบนี้ก็ให้ข้อมูลเราได้เยอะแล้วว่าระบบเวปบอร์ดต้องมีกลุ่มผู้ใช้อย่างน้อยสามกลุ่ม แล้วถ้าเราอยากเพิ่มเติมฟีเจอร์เข้าไปอีกหละ? เช่น การลงโฆษณา การจองพื้นที่โฆษณา การเก็บข้อมูลการขึ้นแสดงของโฆษณา การคิดเงินค่าพื้นที่โฆษณา อื่นๆและอื่นๆ
ถ้าเราระบุกลุ่มผู้ใช้ให้ชัดเจนไม่ได้ มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะคิดถึงการออกแบบที่ถูกต้องเหมาะสม และมันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างซอฟต์แวร์ที่ดี
ใครๆก็ใช้ 5-Why กัน … งานนี้เราขอลองทฤษฎีใหม่ 5-Who … 🧑🏻👨🏻🦱👩🏼🦰🧕🏻👨🏿