✍🏼 ทางเลือกไหนดีกว่ากัน?

เมื่อเราไม่แน่ใจว่าไอเดียไหน (หรือทฤษฎีไหน) ถูกต้องและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากัน เราควรทำอย่างไร? 🤨

  • ผมจะใช้☀️ จาว่าหรือภาษาอื่น
  • หนูจะเลือก🕸 อังกูล่าหรืออื่นๆ
  • ผมจะ 🏉 สกรัมหรือแนวทางอื่น
  • หนูจะ🚘 โตโยต้าหรือฮอนด้า

เราไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งตั้งแต่ตอนนี้หรือวันนี้ … ด้วยความไม่แน่ใจด้วยความไม่แน่นอน โอกาสผิดพลาดยังมีสูงอยู่

ลองนึกถึงเวลาจะเลือกซื้อรถสักคัน … เราควรหาโอกาสไปทดลองขับก่อนใช่หรือไม่? ไม่ต่างจากการทำงานอื่นๆ

ผมกำลังสร้างซอฟต์แวร์โดยใช้ทฤษฎีคลื่นวิทยุมาช่วยในการแยกแยะระหว่างวัตถุที่อยู่นิ่งและเคลื่อนที่รวมถึงคำนวณหาทิศทางของมันด้วย — ยากมาก

พวกผมไม่มีใครมีความรู้เรื่องทฤษฎีคลื่นมาก่อนเลย นั่นคืองานช้างที่ต้องเริ่มศึกษาเรื่องพื้นฐานของมัน ช่วยกันค้นคว้าหาวิทยานิพนธ์มาลองอ่านและพยายามทำความเข้าใจ เป้าหมายคือสร้างสมมติฐานที่พอจะเป็นไปได้ในการทดลอง

ใช้เวลากับมันอยู่สักพักก็พบว่ามีทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้อยู่สองทาง

  1. ด้วยการใช้ค่ามุมของการสะท้อนของคลื่นจากวัตถุกลับมาที่ตัวรับสัญญาณในการคำนวณหาค่าความเร็ว (V — Velocity) — สมมติฐานคือถ้าค่า V นี้เป็นศูนย์หรือใกล้เคียงศูนย์แปลว่าวัตถุหยุดนิ่ง ถ้าค่า V เป็นบวกหรือลบที่ชัดเจนแปลว่ามันกำลังเคลื่อนไหว
  2. ด้วยการใช้ค่าความแรงของสัญญาณที่สะท้อนจากวัตถุกลับมาที่ตัวรับสัญญาณในการตัดสินว่ามันหยุดนิ่งหรือเคลื่อนไหว — สมมติฐานคือเมื่อนำค่าความแรงที่ได้มาจากตัวรับสัญญาณนั้นมาสร้างได้เป็นกราฟที่มีลักษณะคล้ายระฆังคว่ำ (Bell Curve — Normal Distribution Curve) แปลว่าวัตถุนั้นกำลังเคลื่อนที่ผ่านตัวรับสัญญาณอย่างสมบูรณ์

แค่ฟังก็ยากแล้ว การเขียนโปรแกรมยิ่งยากเข้าไปใหญ่ และเพราะพวกผมไม่รู้จริงๆว่าทางเลือกไหนจะดีกว่ากันเพราะทุกอย่างเป็นเพียงแค่ทฤษฎีในกระดาษและสมมติฐานในสมอง การตัดสินทางใดทางหนึ่งจะเป็นเหมือนการหลับตาสุ่มเลือกแบบไร้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนเลย

ก็บอกตามตรงว่าไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยคุยกันในทีมแล้วตัดสินใจเลือกทางเลือกที่สามซึ่งก็คือ “ทดลองมันทั้งสองทฤษฎีพร้อมกันไปเลย”

เพื่อนผมหนึ่งคนลองเรื่องความเร็ว เพื่อนอีกคนลองเรื่องความแรงของสัญญาณ เพื่อนคนแรกเขียนโปรแกรมเล็กๆด้วยซีพลัสพลัส เพื่อนอีกคนลองด้วยจาว่า ก็แล้วแต่ความถนัด

ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์พวกผมก็เริ่มเห็นภาพแล้วครับว่าค่าความเร็วนั้นไม่ค่อยแน่นอนและยากต่อการพัฒนาต่อ ส่วนค่าความแรงค่อนข้างดูดีและมีรูปแบบของกราฟที่ค่อนข้างคงตัว

วันนี้พวกผมถึงตัดสินใจว่าเราจะลุยกันต่อด้วยทฤษฎีที่สอง ถ้าวัตถุหนึ่งชิ้นได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างแม่นยำ แล้วถ้าเป็นสองชิ้น 10 ชิ้น 50 ชิ้นหละจะเป็นอย่างไร … ตอนนี้ยังไม่มีใครตอบได้แต่อย่างน้อยพวกผมก็มั่นใจมากกว่าเดิมมากว่าเรากำลังเดินมาถูกทางแล้ว

บางคนอาจจะคิดว่าเสียเวลากับการทำงานสองทางเพื่อเป้าหมายเดียวกัน แต่ผมไม่คิดแบบนั้น ผมคิดว่าการตัดสินใจด้วยข้อมูลที่น้อยเกินไปคือความเสี่ยง เมื่อเรายังมีเวลา เมื่อเรายังมีความสนใจใฝ่รู้ การทดลองหลายๆแนวทางพร้อมกันเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์เป็นเรื่องที่คุ้มค่าแก่การลงทุน

ในอดีตพวกผมเคยใช้วิธีการนี้มาแล้ว ครั้งนี้ก็เป็นการยืนยันอีกครั้งว่ามันก็เวิร์คดีครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *