“ความเบื่อ” บังเกิดได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพ “ความเบื่อ” เป็นตัวฆ่าความคิดสร้างสรรค์และทำลายประสิทธิภาพในการทำงานชั้นดีเลยทีเดียว
“เบื่อหวะ ไม่อยากทำอะไรเลย”
“เบื่อหวะ ไม่อยากคิดทางเลือกอื่นๆแล้ว”
“เบื่อหวะ ลาออกดีกว่า”
ในสายงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาที่ไม่ซ้ำเดิม อย่างเช่นการสร้างซอฟต์แวร์ … “ความเบื่อ” ควรได้รับการจัดการดูแลอย่างใกล้ชิด “ความเบื่อ” ต้องถูกกีดกันออกไปจากสภาพแวดล้อมการทำงาน และผมเชื่อว่า “ความเบื่อ” ถูกจัดการได้ด้วยกระบวนการทำงานที่เหมาะสม
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา หนึ่งในสาเหตุหลักที่เป็นบ่อเกิดของความเบื่อคือโปรเจกต์ที่ยาวววววววเกินไป … ทีมผมอยู่กับโปรเจกต์ที่เป็นงานหลักมาได้ปีกว่าๆแล้ว ผมรู้สึกว่ามันนานเกินไป ทำไม?
- ความรู้ใหม่ๆที่ได้รับเริ่มคงที่ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไม่มีอะไรตื่นเต้น
- งานที่ทำเริ่มซ้ำเดิม หน้ายูไอหน้าเดิม ข้อมูลชุดเดิม การเทสแบบเดิมๆ
- หนึ่งปีมันนานนะ ฮ่าๆ
ผมเริ่มเบื่อ ทีมผมก็เริ่มเบื่อแต่ทำอะไรมากกับสิ่งนี้ไม่ได้เพราะผมไม่ใช่เจ้าของงานตัวจริง เป็นแบบนี้จะทำยังไงกันดี ทำยังไงให้ความเบื่อมันลดลง ให้ความกระชุ่มกระชวยมันกลับคืนมา … ผมมีแนวคิดแบบนี้ครับ
🛤 อย่าทำให้โปรเจกต์มันยาวเกินไป
แนวคิดของอะไจล์จะมีส่วนช่วยตรงนี้ได้มาก นั่นคือแทนที่จะวางแผนทำโปรเจกต์ยาวหนึ่งปีก็เปลี่ยนมาเป็นเฟสเล็กๆสี่เฟส ทุกๆไตรมาสก็จะมีเอ้าพุตออกมา
การทำงานโดยรู้ว่าเป้าหมายอยู่ใกล้แค่ปลายนิ้วมันส่งผลดีต่อสภาพจิตใจมากนะ จากหนึ่งปีเหลือสามเดือน พลังและความคิดสร้างสรรค์มันจะไม่ตก
🕺🏼 สลับปรับเปลี่ยนจังหวะการทำงานบ้าง
อันนี้ก็สำคัญครับ อุตส่าห์ลงทุนแบ่งเฟสการทำงานแต่ทั้งสี่เฟสทำติดๆกัน มันก็หนึ่งปีเต็มๆที่เราอยู่กับงานชิ้นเดียว … ผมว่าก็เบื่ออยู่ดี ลองสลับโปรเจกต์ดูบ้าง
- สามเดือนแรกทำโปรเจกต์ที่หนึ่ง
- สามเดือนถัดมาเป็นโปรเจกต์ที่สอง
- แล้วก็กลับมาโปรเจกต์ที่หนึ่ง
- เป็นไปได้อยู่นะที่เราจะทำงานมากกว่าหนึ่งโปรเจตก์ในเวลาเดียวกัน
การทำแบบนี้ไม่ใช่จะมีประโยชน์แค่การกำจัดความเบื่อ แต่มันยังช่วยให้งานของเรามีเวลาได้พักหายใจด้วย ยังไง?
เมื่องานสามเดือนแรกเสร็จ เราควรปล่อยเวลาสักนิดให้ผู้ใช้ได้ทดลองใช้โปรดักท์ของเราอย่างจริงจังดูเพื่อเก็บข้อมูล เพื่อเก็บเสียงตอบรับ เพื่อมีเวลาให้หลายๆอย่างได้บทสรุปและตกตะกอน ก่อนที่จะเริ่มต้นพัฒนาหรือเพิ่มเติมโปรดักท์ของเราในเฟสถัดๆไป
ผมเห็นบ่อยจนเบื่อที่หลายทีมมีรายการงานที่ต้องทำเต็มแบ็คล็อกไปหมด ทำเสร็จชุดแรกก็ไม่มีเวลาเงยหน้ามาดูโลก … ตะบันทำชุดสองชุดสามต่อทันที เหนื่อยแน่ๆ เบื่อชัวร์ๆครับ
✌🏼 ให้เวลาส่วนตัวกับทุกคนมากขึ้น
ข้อนี้ยากแต่คุ้มค่า เวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน (สำหรับพนักงานทั่วไป) ไม่จำเป็นต้องหมดไปกับงานประจำอย่างเดียว ที่บริษัทของผม ผมไม่เคยกำหนดว่าทุกคนต้องทำงานโปรเจกต์หลักวันละ 8 ชั่วโมง ผมรู้ว่ามันน่าเบื่อ สิ่งที่ผมทำคือแบบนี้
หนึ่ง มองหาและคิดค้นโปรเจกต์บางตัวที่น่าสนใจ มีโอกาสทางการตลาดบวกกับมีศักยภาพที่จะสร้างความมั่นคงให้บริษัทได้ในอนาคต ทุกอย่างเป็นแค่สมมติฐานและความเชื่อส่วนตัวครับ เป็นงานที่แปลกใหม่ ไม่เป็นทางการ ไม่เหมือนใคร ใส่แนวคิดเวอร์ๆเข้าไปได้เต็มที่ — ลิสต์มาสองสามงาน
สอง แชร์ไอเดียให้เพื่อนร่วมทีมฟัง เก็บข้อมูล ฟีดแบ็ค ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง และเริ่มวางแผนกว้างงงงงๆ ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง แล้วให้เพื่อนแต่ละคนเลือกเอาว่าสนใจงานไหนเป็นพิเศษ — มันคืองานส่วนตัวที่เอาไว้ทำแก้เบื่อ
สาม ผมมักจะไถ่ถามถึงความคืบหน้าของงานส่วนตัวพวกนี้อยู่เสมอ สิ่งที่ผมพูดติดปากคือ “ไม่เป็นไร งานหลักเอาไว้ก่อน ผมว่าวันนี้แกทำงานโปรเจกต์นี้ดีกว่า” ผลตอบรับ? ดีสุดๆ เพื่อนทุกคนไม่ปฎิเสธโอกาสที่จะได้ทำงานใหม่ๆมันส์ๆเลยซักครั้ง
สตีฟ (ซีทีโอของบริษัท) พูดอยู่เสมอเช่นกันครับว่า
การมีทีมงานที่ดีไม่ใช่จุดสิ้นสุด การเก็บพวกเค้าไว้อยู่กับเรานานๆนั่นแหละที่สำคัญที่สุด เราต้องทำให้พวกเค้ามีแรงกระตุ้นในการทำงานอยู่เสมอ … “We need to keep them motivated.”
สิ่งที่ผมทำก็พยายามจะป้องกันความเบื่อไม่ให้ย่างกรายเข้ามาในสภาพแวดล้อมการทำงานของทีมผมครับ