ใครบ้างไม่เคย (ถูกบังคับ) ให้ทำโรดแมป? 🤦🏽♀️
โรดแมปคือเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อสร้างความน่าตื่นเต้นให้ทุกคนในวง ผู้บริหาร ทีมงาน ลูกค้า พาร์ทเนอร์ แม้แต่คนทั่วไป
โรดแมปคืออนาคตและอะไรใหม่ๆที่จะเข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ให้สินค้าและบริการของเรา
แต่โรดแมปถูกใช้งานผิดๆหลายเรื่อง เรื่องแรกที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ …
โปรดักท์โรดแมปกับคำสัญญา
โรดแมปมักจะมาพร้อมไทม์ไลน์ วัน เดือน ไตรมาส ปี หรืออีกหลายปี
เมื่อมีไทม์ไลน์นั่นแปลว่าเรามีคำสัญญา
และถึงแม้จะพูดอธิบายอย่างหนักแค่ไหน คนที่ฟังและที่เห็นโรดแมปนี้แล้วจะปักใจเชื่ออย่างจริงจังเลยว่า … นี่คือคำสัญญาว่าเธอต้องทำตามนั้น
อันตรายกำลังจะมาเยือนเพราะคนเขียนโรดแมปรู้ดีว่า … อันนี้เป็นความฝัน แผนนี้คือสิ่งที่อยากเห็น ไทม์ไลน์นี้คือเดาล้วนๆ และที่สำคัญที่สุด
คนเราฝันได้ทุกวันและเปลี่ยนแปลงได้ทุกนาที วันนี้ฉันอินเรื่องนี้ พรุ่งนี้ฉันอาจจะไปเจออะไรใหม่ๆมาสะกิดใจให้ต้องรื้อแผนชีวิตก็ได้
โรดแมปที่ถูกตราประทับวันเกิดไว้แบบนั้นคือความเสี่ยงอย่างยิ่งของคนทำโปรดักท์ การนำเสนอแผนที่เป็นไทม์ไลน์ที่มีคำว่า “ภายใน วันนี้ เดือนนั้น” จึงเป็นภาระที่ทีมงานต้องแบกอยู่บนบ่าโดยไม่ยุติธรรม
- เพราะเราไม่ได้อยากเขียนโรดแมปแต่ถูกบังคับให้คิดอะไรออกมาเพื่อนำเสนอคนที่เกี่ยวข้อง
- เพราะเราไม่มีความมั่นใจเลยว่าสิ่งที่เขียนไปจะถูกต้องเพราะมันคือการคาดเดาแต่เราต้องพูดแบบว่ามั่นใจเสียเต็มประดา
- เพราะเรามั่นใจมากว่าเมื่อถึงเวลาแล้วเราจะไม่ได้ทำตามโรดแมปนั้นแบบเป๊ะๆหรอกเพราะเงื่อนไขอื่น เพราะงานอื่นที่สำคัญกว่า เพราะทีมเราอาจจะไม่รอดอยู่ถึงวันนั้น
- เพราะเราถูกยัดเยียดคำสัญญาที่เราพยายามหลีกเลี่ยงว่าโรดแมปข้อนั้นต้องเสร็จวันนี้
โรดแมปจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราต้องรับภาระเพิ่มอย่างไม่สมัครใจ เพียงเพราะเมื่อคนเห็นไทม์ไลน์แล้ว … พวกเขาก็คาดหวังว่าอะไรๆจะเป็นไปตามนั้น
เดือนนี้ได้ฟีเจอร์นี้ ปลายปีได้ฟีเจอร์นั้น ต้นปีหน้ามีโปรดักท์ใหม่ … ในใจเราคือ “ฉันอยากทำแบบนั้น” แต่คำว่าอยากไม่ควรถูกแปลงให้เป็นคำสัญญา
เพราะคนอื่นๆยังไม่เข้าใจลึกซึ้งเลยว่า ความอยากของเรามันจะส่งผลดีกับธุรกิจอย่างไร … พวกเขาแค่รู้สึกว่า “เออดีๆ ทำอะไรใหม่ๆออกมาเยอะๆไว้ก่อนก็พอแล้ว” — มันไม่พอหรอก 😐
โปรดักท์โรดแมปที่ถูกต้อง (กว่า)
ใครบ้างไม่ชอบโรดแมป? ใครบ้างไม่ชอบจินตนาการว่าจะทำสิ่งนั้นอยากทำสิ่งนี้? … ความตื่นเต้นไม่ใช่อยู่กับงานตรงหน้าแต่เป็นโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต … ถ้าเราลงมือทำตามที่คิดไว้
ว่าแล้วเราจึงเริ่มต้นลงมือเขียนโรดแมป … โดยผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจะเป็นประมาณนี้
- ภายในสิ้นปี — จะทำระบบส่งอีเมลอัตโนมัติ 📧
- ภายในไตรมาสแรกปีหน้า — จะมีแอนดรอยด์แอปเวอร์ชั่นแรกออกมา 📱
- หลังสงกรานต์ปีหน้า — จะได้ระบบแนะนำสินค้าด้วยแมชชีน เลิร์นนิ่ง 🛒
- ภายในกลางปี — จะได้ระบบสั่งซื้อผ่านสมาร์ทวอช ⌚️
- ภายใน … — จะได้ …
รูปแบบการเขียนโรดแมปเป็นแบบนี้ทั้งหมด น่าตื่นเต้นมั้ย? ก็พอได้อยู่ แต่มันถูกต้องมั้ย? อืมมมม
ข้อแรก — หลังจากทำงานมานาน เราก็ควรจะรู้ตัวได้แล้วว่าอย่างน้อยครึ่งนึงของสิ่งที่เราคิดจะผิดเสมอ ไอ้ที่เขียนๆไว้บนนั้นหนะ อาจจะมีแค่เรื่องเดียวที่ทำแล้วเกิดประโยชน์จริงกับธุรกิจ (ย้ำว่า “กับธุรกิจ”)
ข้อสอง — สังเกตมั้ยว่าทั้งหมดที่เราเขียนมามันคือฟีเจอร์ (Feature) มันคือโปรดักท์ (Product) มันคือผลผลิต (Output) ประมาณว่า “ฉันจะทำไอ้นั้น ฉันจะเพิ่มไอ้นี่” และ “งานฉันก็จะเสร็จเมื่อฉันทำสิ่งเหล่านั้นได้ตามแผน” คำถามคือความเชื่อมโยงระหว่างผลผลิตกับเป้าหมาย (Objective) และผลลัพธ์ (Outcome) ทางธุรกิจอยู่ที่ไหน? ไม่มีเลย
นี่คือปัญหาใหญ่ของการเขียนโรดแมปแบบเอาผลผลิตเป็นตัวตั้ง เคยสังเกตมั้ยว่าทำไมเราทำฟีเจอร์เพิ่ม สร้างโปรดักท์ใหม่ตั้งหลายสิ่งแต่ผู้ใช้ไม่เพิ่ม ยอดขายไม่พุ่ง? มันอาจจะเป็นเพราะเราโฟกัสผลผลิตมากกว่าผลลัพธ์
คำว่าผลลัพธ์ (Outcome) แปลว่า “ได้ผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” การวางแผนอนาคตโดยการเอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้งจะตีกรอบให้เราต้องคิดถึงเป้าหมายก่อนว่าเราต้องการอะไร และเป้าหมายที่ควรจะเป็นนั่นคือการแก้ปัญหาทางธุรกิจบางอย่างให้ลูกค้าของเรา
ลองใหม่ ลองเขียนแบบนี้
- ภายในสิ้นปี — เราจะพยายามแก้ปัญหาเรื่องผู้ซื้อยกเลิกการซื้อสินค้ากลางทางโดยไม่กดจ่ายเงิน 💵
- ภายในไตรมาสแรกปีหน้า — เราจะลองดูว่าเราจะเพิ่มยอดขายที่มาจากทางโมบายให้สูงกว่าเดิม 15% ได้อย่างไรบ้าง 📊
- หลังสงกรานต์ปีหน้า — เราจะช่วยให้ผู้ขายเข้าใจพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้ซื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม 💖
- ภายในกลางปี — เราจะทำแพลตฟอร์มของเราให้เสถียรมากขึ้นที่ 99.00% 👷🏼♂️
- ภายใน … — เราจะแก้ปัญหา …
รูปแบบที่ถูกต้องกว่าในการเขียนโรดแมป — โฟกัสที่การแก้ปัญหาบางอย่างเพื่อผลลัพธ์บางอย่างที่ส่งผลดีต่อธุรกิจของเราในท้ายที่สุด
การลดปัญหาผู้ซื้อยกเลิกการสั่งสินค้ากลางคัน, การเพิ่มยอดขายจากโมบาย สิ่งเหล่านี้มันส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจของเรา จริงมั้ย?
เรายังไม่รู้ในตอนนี้ว่าต้องทำฟีเจอร์อะไร ต้องใช้เทคโนโลยีอะไร ต้องแก้ปัญหาแบบไหน เรารู้แค่ว่านี่คือปัญหาที่ควรต้องได้รับการแก้ไข
เปลี่ยนจากเน้นผลผลิต (Output) มาที่เน้นผลลัพธ์ (Outcome) คือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดที่เรา (ในฐานะผู้นำทีม) จะทำต่อธุรกิจตัวเองได้
คนที่ได้ชื่อว่าทำโปรดักท์ไม่จำเป็นต้องชี้นิ้วสั่งทีมงานว่าต้องทำแบบนี้ ต้องทำฟีเจอร์นี้ ต้องทำแบบนั้น ต้องใช้เทคโนโลยีนั้น … คนที่ทำโปรดักท์มีหน้าที่เข้าใจตลาดอย่างดียิ่ง เข้าใจธุรกิจตัวเองอย่างถ่องแท้ … ดีพอที่จะจัดลำดับความสำคัญได้ว่าปัญหาไหนมีความสำคัญเร่งด่วนกว่าปัญหาอื่น เรียงหัวข้อเหล่านั้นออกมาให้เป็นแผนงานระยะกลาง
แล้วสื่อสารกับทีมงานว่า “เรามีปัญหาแบบนี้ ผมอยากให้ทีมช่วยกันดูว่าเราจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมันยังไงได้บ้าง”
เรามอบหมายปัญหาให้ทีม แล้วให้พวกเขาใช้ความสามารถของตัวเองหาทางแก้ไข … ไม่ใช่เราคิดเองเออเองแล้วก็หยิบโซลูชั่น (ที่ไม่เคยจะดีที่สุด) ใส่ถาดแล้วประเคนให้ทีมเอาไปทำตาม
เขียนใหม่ … โปรดักท์โรดแมปที่ถูกต้อง (กว่า)
ปัญหาสำหรับมนุษย์
ใช่ เราพยายามแก้ปัญหาในฐานะผู้สร้างโปรดักท์ ในฐานะผู้สร้างธุรกิจ
ใช่ เราพยายามวิ่งหนีให้ห่างผลผลิต (Output) มาหาผลลัพธ์ (Outcome)
แต่ขั้นสุดท้ายเพื่อการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ให้แรงบันดาลใจ และเพื่อสิ่งที่ดีกว่าคือการเปลี่ยนแนวคิดจากการแก้ปัญหาของตัวเองมาเป็นการแก้ปัญหาให้ผู้คน
เช่น
“เราต้องการแก้ปัญหาที่ลูกค้าของเรามียอดใช้จ่ายรวมน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน” — จริงอยู่ว่ามันคือการแก้ปัญหา … แต่นั่นมันปัญหาของเรา ปัญหาในธุรกิจและกระบวนการของเรา
ถ้าเปลี่ยนใหม่เป็น …
“เมื่อวานได้ยินลูกค้าคนนึงบอกว่า ‘อยากได้น้ำยาล้างจานแต่เดินเท่าไรก็หาไม่เจอ’” — นี่คือปัญหาของผู้คน เราอยากแก้ปัญหานี้มั้ยหละ? ปัญหานี้ฟังแล้วมันสร้างความรู้สึกคันไม้คันมืออยากหาทางออกเพื่อปัญหานี้มั้ย? 🚶🏽🧽
ถ้าเราแก้ปัญหานี้ให้ผู้คนได้ ยิ่งมากเท่าไร ยิ่งดีเท่าไร … ผลลัพธ์ดีๆจะตอบแทนกลับมาหาธุรกิจของเราเอง
แนวทางในการมองหาและเขียนเป้าหมายที่เป็นการแก้ปัญหาให้ผู้คน?
- มันมักจะเริ่มต้นจากบทสนทนาที่เราได้ยินจากลูกค้าจากผู้ใช้เสมอ
- มันมักจะไม่มีเรื่องของตัวเลขที่วัดผลได้มาเกี่ยวข้อง (กำไรเพิ่มเท่านั้น จำนวนบั๊กลดลงเท่านี้ 👎)
- มันมักจะเป็นอะไรที่มีเรื่องของอารมณ์และสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง
- มันต้องไม่มีชื่อเรา ชื่อทีมงาน ชื่อบริษัทของเราเข้าไปเกี่ยวข้อง (เราจะโค่นคู่แข่งให้ได้ภายในปีหน้า 👎)
แล้วโรดแมปของเราก็จะสมบูรณ์มากขึ้นอีกขั้นครับ