“ถ้าผมจะรับหน้าที่โปรดักท์ เมเนเจอร์ ผมต้องเจองานแบบไหนบ้างครับ?” — คำถามจากน้องใหม่ไฟแรงที่กำลังจะเริ่มต้นสายอาชีพนี้อีกคน
ผมสรุปให้น้องคนนี้ฟังง่ายๆแบบนี้ครับ
🧪 โปรดักท์ เมเนเจอร์กับงานนวัตกรรม (Innovation)
หน้าที่แรกของเราคือการสร้างความคืบหน้าของโปรดักท์ให้เข้าใกล้เป้าหมายหลักชัยในเชิงกลยุทธ์ที่เรากำหนดไว้จากวิสัยทัศน์ของเรา
มุมมองของโปรดักท์ เมเนเจอร์ตรงนี้ต้องกล้าได้กล้าเสีย ต้องคิดใหญ่คิดไกล ต้องมองภาพที่แตกต่างเพื่อการสร้างประโยชน์ให้ลูกค้าของเรา
🌀 โปรดักท์ เมเนเจอร์กับการปรับปรุง (Iteration)
หน้าที่ที่สองคือการปรับปรุงโปรดักท์ที่เราสร้างขึ้นมาแล้วจากขั้นตอนแรกให้ดีขึ้น ให้สมบูรณ์ขึ้น เพิ่มฟีเจอร์ แก้ไขการทำงานให้สะดวกและง่ายขึ้นเป็นต้น
แนวคิดตรงนี้คือค่อยเป็นค่อยไป ปรับปรุงโปรดักท์ที่ทำขึ้นมาแล้วแบบไม่ก้าวกระโดด เราต้องมองคุณค่าของลูกค้าและธุรกิจในระยะสั้นเป็นหลัก
🛠 โปรดักท์ เมเนเจอร์กับงานหลังบ้าน (Operation)
หน้าที่สุดท้ายคือการบำรุงรักษาให้โปรดักท์เรารันไปได้อย่างราบรื่น ให้เราสามารถทำและขยายธุรกิจจากมันได้อย่างมั่นคง เช่น งานเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน, งานปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบ (ความเร็วของระบบ), ความปลอดภัยของระบบ, แก้บั๊ก, และความเสถียรของระบบ เป็นต้น
ตรงนี้คือต้นทุนที่เราต้องยอมจ่ายครับ มิฉะนั้นแล้วโปรดักท์ของเราจะขายหรือขยายไปยังตลาดกลุ่มใหญ่ไม่ได้ ถ้าระบบไม่เสถียรลูกค้าจะไม่ใช้ ถ้าระบบมีโครงสร้างพื้นฐานไม่ดีจะทำให้เราต้องเสียเวลาและพลังงานเยอะมากในการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มฟีเจอร์ในอนาคต ถ้าซอฟต์แวร์ของเรามีหนี้ทางเทคนิคเยอะภายในเวลาไม่นานทุกอย่างจะช้าลงจนหยุดนิ่ง
แล้วเราควรทำงานไหนมากกว่ากัน?
ตรงนี้จะว่าไปไม่ใช่หน้าที่ของโปรดักท์ เมเนเจอร์เสียทีเดียวนะครับ เพราะแนวทางที่ดีที่สุดคือการกำหนดนโยบายเรื่องนี้มาจากระดับสูง ระดับผู้บริหาร ระดับซีอีโอ ในฐานะโปรดักท์ เมเนเจอร์เราควรมองเห็นภาพแบบนี้ครับ
“เราอยากจะให้ความสำคัญกับงานนวัตกรรมสัก 60% งานปรับปรุง 30% แล้วเหลือเวลาให้งานหลังบ้านสัก 10% ก็พอ”
ถ้าถามต่อว่า … แล้วสัดส่วน 60–30–10 มันจะเป็นการกำหนดนโยบายแบบถาวรรึเปล่า? … ก็คงไม่ใช่แบบนั้นครับ มันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของโปรดักท์
- ช่วงอัลฟ่า/กำลังเริ่มทำโปรดักท์: 100–0–0
- หลังรีลีสเวอร์ชั่นแรกสุด: 30–60–10
- เมื่อเริ่มมีลูกค้าแล้ว: 10–70–20
- เข้าเฟสขยายตลาด: 10–20–70
- เริ่มโปรดักท์อยู่ตัวแล้ว: 60–10–30
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว … โปรดักท์ เมเนเจอร์มือใหม่ (หรือจะมือเก่าก็ตาม) น่าจะเห็นสโคปงานของตัวเองมากขึ้นแล้วนะครับ 🙌🏼
Pingback: ✍🏼 โปรดักท์กับงานที่ซ่อนอยู่ – ปิโยรส – ธุรกิจ, สตาร์ทอัพ, ซอฟต์แวร์