✍🏼 สัญญาณ 10 ข้อที่บอกว่าทีมโปรดักท์ของเรากำลังมีปัญหา

ด้วยหนึ่งในหน้าที่หลักของผมตอนนี้คือการเป็นหัวหน้าทีมโปรดักท์ของบริษัทตัวเอง ผมจึงพยายามศึกษาหาความรู้เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำอย่างไรที่เราจะสร้างโปรดักท์ที่ดี … ทำอย่างไรที่เราจะสร้างทีมโปรดักท์ที่เป็นมืออาชีพ

ในขณะเดียวกันผมก็มีโอกาสได้ให้คำปรึกษาเพื่อนๆบางคนที่ทำงานด้านนี้เหมือนกันอยู่บ้าง คำถามที่พวกเขาถาม เรื่องราวที่พวกเขาเล่า และปัญหาความท้าทายที่พวกเขาเจอในการทำงานแต่ละวันนั้นน่าสนใจ และผมพอจะจับทิศจับทางได้บ้างว่ามีหลายเรื่องที่หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำโปรดักท์รวมถึงหน้าที่ของโปรดักท์ เมเนเจอร์ด้วย

ประกอบกับการที่ผมเริ่มอ่านหนังสือเล่มใหม่เล่มนี้ (ตอนนี้เพิ่งอ่านจบแค่บทแรกนะครับ) แล้วโดนใจเลยกับที่ผู้เขียนยกสัญญาณ 10 ข้อที่บอกว่า … เรากำลังมีปัญหาแล้วหละขึ้นมา — บทความนี้ผมเลยเขียนสรุปเรื่องนี้ให้ฟังดังนี้ครับ


1 — 🐀 หนูติดจั่น

โฟกัสกับผลผลิต (Output) มากกว่าผลลัพธ์ (Outcome): เมื่อทีมงานมีหน้าที่วิ่ง วิ่งเข้าไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าจะวิ่งไปไหน ขอให้วิ่งและทำงานให้เสร็จตรงเวลา

2 — 🏠 บ้านนับเลข

ยึดติดกับตัวเลขเป้าหมาย (Metrics) ภายในมากเกินไป: ทุกอย่างต้องมีการวัดผลเป็นการภายใน โดยไม่สนใจผลลัพธ์หรือคุณค่าที่ลูกค้าได้รับ ทำงานได้กี่ชิ้น, เวโลซิตี้เป็นเท่าไร (คุ้นๆมั้ย?), จำนวนลูกค้าเติบโตขึ้นแค่ไหน, และอื่นๆ

3 — 🐘 หอคอยงาช้าง

ทีมโปรดักท์อยู่ห่างจากผู้ใช้มาก: ทีมโปรดักท์เชื่อมั่นอย่างผิดๆไปเองว่าตัวเองรู้ปัญหาและรู้ความต้องการของผู้ใช้ดีอยู่แล้ว ทีมโปรดักท์ไม่คิดอยากจะไปศึกษาชีวิตประจำวันหรือปัญหาที่ผู้ใช้เจอด้วยตัวเอง

4 — 👩🏻‍🔬 ห้องแลปวิทยาศาสตร์

คลั่งไคล้การวัดผลแบบผิวเผิน: ทีมโปรดักท์ที่บ้าวัดผล บ้าการทดลองอะไรเล็กๆน้อยๆที่ไม่ได้ส่งผลต่อการปรับปรุงคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ งานทดสอบแบบสลับ (A/B Testing) ที่พยายามจะเพิ่มแทรฟฟิคให้โปรดักท์ของเราด้วยการเปลี่ยนเลย์เอ้าท์ เปลี่ยนสีปุ่ม เปลี่ยนข้อความโฆษณา โดยหวังว่าอะไรสักอย่างจะช่วยให้ลูกค้าสมัครเป็นสมาชิกของเรามากขึ้น

5 — 🏭 โรงงานผลิตฟีเจอร์

ทีมที่เป็นเหมือนสายพานการผลิตในโรงงาน: หน้าที่เดียวของทีมโปรดักท์และทีมพัฒนาคือทำฟีเจอร์ออกมาให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด คนกลุ่มนี้จะคลั่งไคล้แบ็กล็อกและโรดแมปอย่างออกหน้าออกตา

6 — 🎓 โรงเรียนสอนธุรกิจ

วิเคราะห์ วิเคราะห์ แต่ไม่ลงมือทำอะไรเลย: ทีมที่ทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีข้อมูลตัวเลข ถ้าไม่ได้วิเคราะห์เพื่อพยายามวัดผลทางคณิตศาสตร์อะไรบางอย่าง ประเภทที่อยากได้สตอรี่ พ้อยท์ใจจะขาด อยากประเมินให้ละเอียดสุดชีวิตว่ามันจะ 3 แต้มหรือ 5 แต้ม

7 — 🎢 รถไฟเหาะตีลังกา

เปลี่ยนใจง่าย เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก: จนไม่มีโฟกัส ไม่มีความอดทน ใจร้อน ตัดสินใจเร็วเกินไป ประมาณว่าถ้ารีลีสครั้งแรกแล้วไม่เห็นผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ในระยะเวลาอันสั้นก็จะรีบด่วนสรุปว่าไอเดียนี้แย่ แล้วก็หมุนไปหาไอเดียใหม่ เรื่อยๆ และเรื่อยๆ

8 — 🌉 สะพานที่ไม่มีทางลง

สร้างโปรดักท์ที่ดีเกินไปและคิดเผื่ออนาคตมากเกินไป: ทีมพัฒนาชอบการแก้ปัญหา มากกว่านั้นพวกเขาชอบออกแบบและสร้างอะไรที่วิจิตร คิดไกล เผื่อไว้สำหรับอนาคต ประมาณว่า “เตรียมตัวไว้ก่อน เผื่อว่าต้องซัพพอร์ตเคสนี้ในปีหน้า” ปัญหาคือไอ้เคสนี้มันสำคัญจริงมั้ย? มันจะมาถึงเราจริงมั้ย? ไม่มีใครการันตีได้ สุดท้ายก็กลายเป็นการลงทุนทางวิศวกรรมที่สูญเปล่า

9 — 🗣 โต๊ะต่อรอง

พยายามจะเอาใจทุกคนพร้อมกัน: ทีมโปรดักท์ต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนทุกกลุ่ม ลูกค้าใหญ่ ทีมพัฒนา ทีมขาย เจ้าของบริษัท และผู้ถือหุ้น เมื่อต่างคนต่างมีความต้องการที่ต่างกัน ทีมโปรดักท์ที่ไม่กล้าพอจะพยายามเจรจาต่อรองและทำโปรดักท์ที่ตอบความต้องการของคนทุกคนได้ … และนั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะ

10 — 👑 ผู้ครองบัลลังก์

ซีอีโอที่ปล่อยวางไม่เป็น: หลายบริษัทมีซีอีโอที่เริ่มต้นจากการเป็นโปรดักท์ เมเนเจอร์ เป็นตำนานที่จุดประกายความสำเร็จและการเติบโตของโปรดักท์ ปัญหาจะบังเกิดเมื่อซีอีโอคนนี้ไม่ปล่อยวาง ยังวางบทบาทของตัวเองให้เป็นผู้ตัดสินใจสำคัญๆทุกเรื่องที่เกี่ยวกับโปรดักท์ เกิดเป็นปัญหาคอขวด แรงจูงใจของทีมงานตกต่ำ ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของในงาน และขาดความสนใจในความสำเร็จของงานในที่สุด


ทีมโปรดักท์ของเราได้กี่คะแนน?

สัญญาณ 10 ข้อนี้เป็นเรื่องจริงที่ผมเคยสัมผัสมาตลอดอาชีพเกือบ 20 ปี หลายข้อก็ยังเกิดขึ้นจริงในบริษัทของผมอยู่ (ยอมรับความจริง ฮ่าๆ) ตามนี้

❌ 8 — สะพานที่ไม่มีปลายทาง

❌ 10 — ผู้ทรงอำนาจบนบัลลังก์

ผู้เขียนแนะนำให้ลองเช็คดูครับว่า 10 ข้อนี้ตรงกับทีมเรากี่ข้อ … ข้อละ 1 คะแนน โดยมีคำทำนายที่แม่นยำไว้ดังนี้

0 คะแนน — เทพ … คุณน่าจะเขียนหนังสือเรื่องการบริหารจัดการโปรดักท์ได้เลยนะ!!!

1 คะแนน — สุดทอด … คุณน่าจะเป็นนักเรียนดีเด่นของคลาสเลย

2 คะแนน — ไม่เลว … คุณก็พอจะเกาะกลุ่มกับทีมโปรดักท์ทีมอื่นๆได้อยู่

3 คะแนน — อืมมม … คุณมีการบ้านพอสมควรเลยหละ

4 คะแนนขึ้นไป — โอ้ะ … สถานการณ์ไม่ดีเลย ต้องรีบหาทางแก้ไขโดยด่วนแล้ว


ของเพื่อนๆได้กี่คะแนนกันครับ? ยิ่งน้อยยิ่งดีนะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *