ไดเลมม่า (Dilemma) แปลว่า สถานการณ์ยากที่เราต้องตัดสินใจเลือกระหว่างตัวเลือกสองหรือมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวเลือกเหล่านั้นไม่เป็นที่ถูกใจเราพอๆกัน
คำนี้ร่วมกับคำว่า “ดิสรัปชั่น” (Disruption) ถูกใช้มากในวงการธุรกิจ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้วยบริบทประมาณนี้
ผู้บริหารองค์กรใหญ่ได้รับมอบหมายให้สร้างโปรดักท์ใหม่เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายรายได้ที่ต้องเพิ่มขึ้นปีละ 15% ขององค์กร ผู้บริหารท่านนี้เริ่มต้นงานด้วยการระดมสมองจากทีมงานเพื่อหาตัวเลือกสำหรับโปรเจกต์ใหม่ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างแชร์ไอเดีย และเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะผู้บริหารก็ได้ตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ในมือ
- โปรเจกต์ต่อยอดโปรดักท์ตัวเก่าที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วและเข้าใจว่ามีความต้องการที่ชัดเจน และความต้องการนั้นคือระบบที่ดีกว่าเดิม เร็วกว่าเดิม ถูกต้องมากกว่าเดิม
- โปรเจกต์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ดูเหมือนจะไม่ได้ดีไปกว่าเดิม เพียงแค่ราคาถูกลงกว่าเดิม ไม่มีตลาดที่รองรับแบบชัดเจน ไม่มีกลุ่มลูกค้าที่เรียงแถวดาหน้าเข้ามาต่อคิวขอซื้อ แต่ในทางกลับกันมันคือนวัตกรรม มันคือโอกาสที่จะสร้างตลาดใหม่และความต้องการใหม่ของอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา
ตัวเลือกทั้งสองมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป มันไม่มีตัวเลือกไหนที่ดีกว่าอย่างชัดเจน สถานการณ์ไดเลมม่าจึงเริ่มเกิดขึ้น
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่าผู้บริหารท่านนี้ทำงานให้องค์กรใหญ่ องค์กรที่มีกระบวนการทำงานชัดเจน มีกฎเกณฑ์ที่เคารพ มีแนวนโยบายที่ต้องทำตาม และเมื่อว่ากันเรื่องการลงทุน … โปรเจกต์ไหนที่ผลตอบแทนที่จับต้องได้ (ยอดขาย จำนวนลูกค้า สัดส่วนกำไร) ไม่ชัดเจนจะถูกปัดตกโดยธรรมชาติ พอจะเห็นภาพแล้วใช่มั้ยว่าทำไมนวัตกรรมถึงเกิดยากในองค์กรใหญ่
เพราะไม่มีผู้บริหารท่านไหนกล้านำเสนอโปรเจกต์ที่เสี่ยงสูงโอกาสล้มเหลวสูงอย่างข้อสอง ไม่มีผู้บริหารท่านไหนกล้าเอาชื่อเสียงและอนาคตหน้าที่การงานของตัวเองมาเดิมพันกับโปรเจกต์ที่ไม่มีความแน่นอนในทุกด้านอย่างข้อสอง ทำให้เกือบทุกครั้งโปรเจกต์แบบต่อยอดจึงได้รับการสนับสนุนทั้งการเงินและกำลังคน ส่งผลให้โปรเจกต์เพื่ออนาคต (ที่ไม่แน่นอน) เป็นถูกพับเก็บครั้งแล้วครั้งเล่า
ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ ทั้งที่อยากตัดสินใจเลือกข้อสอง แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่ต้องทำกฎและต้องปกป้องชื่อเสียงและอนาคตของตัวเอง (อันนี้ก็เข้าใจได้) และเลือกข้อหนึ่งอย่างจำใจ นี่คือไดเลมม่า
ไดเลมม่าที่เปิดช่องให้บริษัทสตาร์ทอัพที่กล้าเสี่ยงเพราะไม่มีอะไรจะเสีย กล้าเลือกเพราะไม่มีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดแต่ไม่มียืดหยุ่นมาบีบบังคับ
ไดเลมม่าที่องค์กรใหญ่เสียโอกาสในการสร้างนวัตกรรม … ไม่ใช่เพราะพวกเค้าไร้ความสามารถหรือไร้กำลังเงิน ในทางตรงข้ามพวกเค้ามีทุกอย่างที่สตาร์ทอัพต้องการ … เพียงแค่การตัดสินใจที่อนุรักษ์นิยมเกินไป … เพียงเพราะไดเลมม่า
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ถ้าเราเป็นองค์กรใหญ่ … เราจะกล้าเสี่ยงขึ้นมั้ย?
ถ้าเราเป็นสตาร์ทอัพ … เราจะพร้อมใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบเดียวข้อนี้ของเราต่อสู้กับองค์กรใหญ่รึเปล่า? 🤔