สตารัทอัพ (Startup) มักถูกโยงเข้ากับคำว่าทันสมัย คำว่านวัตกรรม ผมเองก็มองบริษัทตัวเองแบบนั้นเหมือนกัน อะไรที่ใหม่กว่า สดกว่า มันน่าดึงดูดมากกว่า มันดูเหมือนว่าเราสามารถสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากสิ่งเหล่านั้นได้ คำว่าอนาคตเหมือนถูกผูกโยงไว้กับเรื่องเหล่านั้น
“บริษัทคุณทำอะไร?” – ลูกค้าถามผมมาแบบนี้ คำตอบที่เป็นมาตรฐานเลยคือ “เราทำระบบแทรคกิ้งที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีใหม่ครับ”
“คุณวางแผนอนาคตไว้ยังไงบ้าง?” – นักลงทุนถามผมมาแบบนี้ คำตอบที่เป็นมาตรฐานอีกเช่นกันก็คือ “เราจะสร้างโปรดักท์ที่ต่อยอดไปที่เอไอ ที่โรบอท ที่โอเพ่นแพลตฟอร์มครับ”
ดูเหมือนว่าผมไล่ล่าสิ่งใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ไอเดียใหม่ … ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านั้นคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ ความจริงแล้วไม่ใช่เลย ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนและไม่ใช่สิ่งที่เราควรยึดมั่นเป็นรากฐานของสตาร์ทอัพด้วยซ้ำไป ทำไมหนะหรอ?
🧪 เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปทุกนาที
รู้หรือไม่ว่าเทคโนโลยีไม่ได้มีไว้ให้ยึดเหนี่ยวแต่มีไว้เพื่อประยุกต์ใช้เท่านั้น คำว่าประยุกต์คือการเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ เทคโนโลยีด้วยตัวมันเองนำความเปลี่ยนแปลงมาด้วย เมื่อก่อนไม่มีอินเตอร์เน็ตเราดำเนินชีวิตด้วยรูปแบบหนึ่ง เมื่อเราเริ่มเปิดรับอินเตอร์เน็ตชีวิตเราก็เปลี่ยนไปในอีกรูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับธุรกิจ อะเมซอนเริ่มต้นจากอีคอมเมิร์สขายสินค้าออนไลน์ แต่อะเมซอนก็เริ่มเปิดหน้าร้านแบบออฟไลน์เช่นกัน ถ้าเทคโนโลยีที่ช่วยผลักดันอีคอมเมิร์สมันดีที่สุดและเป็นสิ่งที่สามารถใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้ตลอดไป ทำไมอะเมซอนถึงมองว่าหน้าร้านนั้นก็ยังสำคัญ?
มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว และมันก็ไม่ใช่เรื่องโปรดักท์อีกเหมือนกัน
🖥 โปรดักท์นั้นก๊อปปี้กันได้ง่ายๆ
ถ้าเรามองว่าความสำเร็จจะมาจากโปรดักท์ เรากำลังเดินถอยหลังด้วยอัตราความเร็วเป็น 2 เท่ากับที่เราเดินหน้า เพราะมีหลักฐานให้เห็นดาษดื่นว่าโปรดักท์ถูกลอกเลียนแบบกันได้ทุกวัน ในโลกที่ไร้พรมแดนแบบนี้ไม่มีอะไรที่เป็นความลับในการสร้างโปรดักท์ ด้วยความแพร่หลายของซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์สและเครื่องไม้เครื่องมือที่เข้าถึงคนทุกคนบนโลก การสร้างโปรดักท์หรือซอฟต์แวร์นั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เราไม่ต้องการเงินทุนมากมาย (เริ่มต้นแบบฟรีๆยังได้) เราไม่ต้องการทีมงานเป็นโหล (แค่เราคนเดียวก็ได้เหมือนกัน) เราไม่ต้องการเวลาเป็นปี (แค่เดือนเดียวก็เริ่มมองเห็นอะไรๆแล้ว) การหลงคิดไปว่า “โปรดักท์ของฉันดีที่สุด” คือความยั่งยืนที่สตาร์ทอัพต้องการคือกับดักหลุมลึก
บางคนตั้งคำถามว่า “แล้วถ้าฉันมีลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือทรัพสินย์ทางปัญญาละ?” ฟังเหมือนดูดี ฟังเหมือนจะเป็นกำแพงที่ช่วยป้องกันความล้มเหลวให้เราได้ แต่รู้มั้ยว่า โกดัก (Kodak) คือบริษัทแรกที่คิดค้นและผลิตกล้องดิจิตอลได้มาตั้งแต่ช่วงปี 1970 แต่พวกเขาไม่กล้าผลิตสินค้าที่ล้ำยุคตัวนี้ออกมาขายเพราะกลัวว่ามันจะมากินส่วนแบ่งตลาดฟิล์มที่ตัวเองกำลังเก็บเกี่ยวกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ แค่นั้นไม่พอพวกเขายังตัดสินใจพลาดครั้งที่สองด้วยการขายสิทธิบัตรกล้องดิจิตอลให้บริษัทอื่น (ไม่เปิดเผยชื่อ) แล้วเก็บค่าธรรมเนียมจากสิทธิบัตรเหล่านั้นมานานหลายปี จนกระทั่งสิทธิบัตรของพวกเขาหมดอายุลงในปี 2007 จากนั้นอีกเพียง 5 ปี โกดักก็ยื่นล้มละลายในปี 2012
ถ้าโปรดักท์ก็ไม่ใช่ แล้วทีมงานหละ?
👨🏼💻 ทีมงานนั้นมีเข้ามาก็มีจากไป
ถ้าเราคาดหวังว่าทีมงานคือสิ่งที่ยั่งยืนสำหรับสตาร์ทอัพ เราจะผิดหวังอีกครั้งเพราะ “คนมาแล้วก็จากไป” ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มันคือสัจธรรมที่คนทุนคนมีแผนการของชีวิตตัวเอง หลายครั้งที่เมื่อถึงจุดหนึ่งในอาชีพบริษัทของเราไม่ใช่พื้นที่สำหรับพวกเขาอีกต่อไป สตาร์ทอัพนั้นยิ่งท้าทายเพราะจากสถิติจากประเทศสหรัฐอเมริกาบอกเราว่าอายุงานเฉลี่ยของพนักงานในบริษัทสตาร์ทอัพนั้นยืนยาวแค่ 2 ปี นั่นแปลว่าเราอาจจะต้องทำใจถ้าคนที่นั่งทำงานข้างๆเราจะเปลี่ยนหน้าไปเป็นคนละคนคนละทีมในทุกๆ 2 ปี
ป.ล. โชคดีของผมที่ทีมงานเกินร้อยละ 90 ที่ร่วมงานกันมากว่า 4 ปี ยังไม่ทิ้งผมไปไหนเลย 🥰
ถ้าคนเปลี่ยนบ่อยขนาดนี้ เราจะคาดหวังที่จะยึดปัจจัยนี้ในการสร้างธุรกิจได้อย่างไร?
💰 แล้วถ้าเป็นฐานลูกค้าและรายรับหละ?
“ไม่มีบริษัทไหนจะยิ่งใหญ่เกินคำว่าล้มเหลว” – คนฉลาดพูดไว้แบบนี้ซึ่งมันก็เป็นความจริง ต่อให้เรารุ่งเรืองแค่ไหน มีฐานลูกค้าใหญ่แค่ไหน มีรายได้และกำไรล้นฟ้าขนาดไหน เพียงเวลาไม่นานสถานการณ์อาจจะกลับตาลปัตรได้ตลอด ยิ่งในโลกปัจจุบันที่ลูกค้ามีทางเลือกมากกว่าเดิมเป็น 100 เป็น 1,000 เท่า พวกเขาจะไม่ใช่ตัวประกันที่เราจะข่มขู่และขูดรีดได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ข้อมูลสนับสนุนที่น่าสนใจคืออายุเฉลี่ยของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในลิสต์ Fortune 500 นั้นลดลงเหลือแค่ 20 ปีจากเดิม 60 ปีเมื่อปี 1950 พูดอีกนัยหนึ่งได้ว่าอายุบริษัทนั้นสั้นลงทุกวัน ต่อให้เคยรุ่งเรืองแค่ไหน ทุกคนล้มได้เหมือนกัน นับประสาอะไรกับสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มหัดคลานอย่างเรา
รายได้ที่มี ฐานลูกค้าที่สร้างมานั้นดีแล้ว (จงทำต่อไป) แต่ความมั่นคงที่แท้จริงไม่ใช่ขึ้นอยู่กับพวกเขาอย่างที่เราคิดไว้หรอก แล้วอะไรที่ใช่?
🤝 วัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งที่เป็นอมตะในสตาร์ทอัพ
เมื่อเราแกะเปลือกหัวหอมทีละชั้น ลอกออกทีละชิ้น จากเทคโนโลยี โปรดักท์ ทีมงาน ลูกค้า รายได้ ชื่อเสียง สิทธิบัตร จากนอกสุดเข้ามาในสุดเราจะพบว่าสิ่งที่เป็นรากฐานของบริษัทสตาร์ทอัพและทุกองค์กรหรือทีมงานในโลกนี้คือ “วัฒนธรรม” คือสิ่งที่พวกเรายึดมั่น สิ่งที่พวกเราเชื่อถือ สิ่งที่พวกเราปฏิบัติต่อๆกันมา
วัฒนธรรมจะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เคยเกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทุกอย่างของบริษัทสตาร์ทอัพ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเป็นอะไร ไม่ว่าทีมงานจะเป็นใคร … สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแล้วมีอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมทั้งสิ้น
- ถ้าโปรดักท์ที่เราคิดว่ามันดีเลิศเกิดมีปัญหาขึ้นมาเพราะเทคโนโลยี ทีมงานของเราจะตอบสนองอย่างไร?
- ถ้าคู่แข่งที่มีอำนาจมากกว่าก๊อปปี้โปรดักท์ที่ขายดีที่สุดของเรา ทีมงานเราจะตอบสนองอย่างไร?
- ถ้าลูกค้ารายใหญ่ปฏิเสธที่จะทำธุรกิจกับเรา ทีมงานของเราตอบสนองอย่างไร?
- ถ้าคนสำคัญในทีมกำลังจะจากเราไป คนใหม่ที่กำลังจะมาจะได้รับประสบการณ์วันแรกแบบไหน?
- ถ้าแผนธุรกิจที่เราวางไว้อย่างดีที่สุดเกิดล้มเหลวไม่เป็นท่า เราจะจัดการเรื่องนี้แบบไหน?
ดูผิวเผินเราอาจจะคิดว่าคำตอบกับคำถามเหล่านี้อยู่ในเทคโนโลยี อยู่ในโปรดักท์ หรืออยู่ในตัวคน แต่ความจริงแล้วไมใช่ มันอยู่ในวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นมา (อาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) เรายึดมั่นในเป้าหมายแค่ไหน? เรารักษาคำสัญญาอย่างจริงจังแค่ไหน? เรากล้าเสี่ยงกล้าลองกล้าล้มกล้าเจ็บหรือไม่? เรามองการณ์ไกลหรือหวังผลระยะสั้น? เราเชื่อใจทีมงานมากแค่ไหน? เราให้ความสำคัญกับเงินหรือคนมากกว่ากัน? เราไล่ตามความฝันหรือเดินตามคู่แข่ง? เราคือแชมเปี้ยนหรือเป็นแค่ทางผ่าน? เราเลือกคนที่ความสามารถหรือความดี?
คำถามพวกนี้ต่างหากที่สำคัญที่สุด พวกมันต้องการการใส่ใจอย่างที่สุดจากเราในฐานะคนก่อตั้งและผู้นำทีมสตาร์ทอัพ ทุกการตัดสินใจ ทุกการตอบสนองของเราคือการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมา ดังนั้นมันจึงอยู่ที่เราในช่วงเริ่มต้นว่าอยากให้บริษัทของเราเป็นอมตะหรือไม่ ถ้าอยาก … เราต้องไล่ตามสิ่งที่เป็นอมตะอย่างวัฒนธรรม
สำหรับคนที่เคยสัมผัสมาแล้วจะรู้ดีว่าการสร้างสตาร์ทอัพจะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิตมนุษย์คนนึงจะประสบได้ ผมเองยังดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ทุกวันกับปัญหาและความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน มันเกิดขึ้นมากับผมทั้งหมดแล้วไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ดีพอ โปรดักท์ที่ไม่เป็นที่ต้องการ ทีมงานที่เข้ากับลักษณะงานไม่ได้ ลูกค้าที่ปฏิเสธเราครั้งแล้วครั้งเล่า รายได้ที่หดหายจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ นักลงทุนที่มองผ่านผมไปเหมือนไม่มีตัวตน แต่ผมก็รู้ดีแก่ใจว่าเราต้องสู้ต่อไป (และต่อไป) ตราบเท่าที่มีแรงอยู่ ด้วยการยึดมั่นในสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างวัฒนธรรมในองค์กรในการทำงาน ผมในฐานะผู้นำมีหน้าที่ต้องสร้างและรักษามันให้ดีที่สุด
เพราะผมอยากจะมั่นใจว่าในวันที่ผมจากไป (ในวันที่ทุกคนในทีมวันนี้จากไปหมดแล้ว) บริษัทของผมยังไปต่อได้ ได้อย่างดี อย่างรุ่งเรือง (ยิ่งกว่าตอนที่ผมอยู่) … ไม่มีอะไรที่เทคโนโลยี โปรดักท์ ทีมงาน หรือฐานลูกค้าจะช่วยผมได้เลย มีแค่วัฒนธรรมอย่างเดียว
ถ้าถามวันนี้ตอนนี้ว่า “สิ่งแรกที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพต้องทำคืออะไร?” คำตอบนั้นชัดเจนอยู่แล้ว “สร้างวัฒนธรรมที่เหมาะสมและแข็งแรงขึ้นมาก่อน” 💪🏽