ตราบใดที่เรายังไม่ได้ทดสอบกับโลกความจริง ด้วยสถานการณ์จริง ลูกค้าจริง ข้อมูลจริง … ไม่มีใคร ไม่ว่าจะเก่งกาจ ตำแหน่งสูง การศึกษาดีขนาดไหนจะมั่นใจได้ว่า เรื่องนี้ ไอเดียนี้ สิ่งนี้ จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
การตั้งคำถามว่า “มั่นใจได้อย่างไรว่ามันจะไม่ล้มเหลวและลูกค้าจะไม่มีปฏิกิริยาในแง่ลบ?” นั้นไม่ใช่เรื่องผิด
เมื่อผู้มีอำนาจมากกว่าท้าทายผู้มีอำนาจน้อยกว่าที่พยายามขับเคลื่อนสินค้าหรือบริการสักชิ้นให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยคำถามแบบนี้ … มันน่าสนใจว่าสถานการณ์จะลงเอยอย่างไร
หนึ่ง — คำถามถูกใช้เพื่อหาทางป้องกันความผิดพลาดหรือเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ ระดมสมองเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้ได้มากที่สุด … ร่วมกันเป็นทีม
สอง — คำถามถูกใช้เพื่อสกัดความคิดความตั้งใจและความพยายามของทีมงานที่อยากเห็นสิ่งใหม่เกิดขึ้น คำถามถูกใช้แบบปลายปิดคือไม่ต้องการคำตอบหรือไม่ว่าคำตอบจะออกมาอย่างไรก็ไม่มีทางจะเปลี่ยนใจผู้กุมอำนาจได้
เมื่อไอเดียและความพยายามถูกหยุดลงเพียงเพราะความกลัวว่าผลเสียจะเกิดขึ้น … อืม คำถามที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ “แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ?”
มีใครตอบได้จากมโนสำนึก สมองก้อนเดียว ประสบการณ์ชีวิตไม่กี่ปี? … ไม่มีหรอก จะเก่งกาจและยิ่งใหญ่มาจากไหนก็ไม่มีทางที่จะคาดการณ์ได้แม่นยำอย่างใจคิด
ที่ใดมีความกลัวความล้มเหลว ที่นั่นไม่มีนวัตกรรม ใครที่ใช้คำถามเชิงลบเพียงเพื่อกลบเกลื่อนความเสี่ยง คนนั้นไม่เข้าใจว่าอีกด้านหนึ่งของโลกมักจะเป็นจริงเสมอ … อะไรที่เราคิดว่ามันดีผลลัพธ์จะแย่ และอะไรที่เราไม่คาดหวังเลยว่ามันจะได้กลับกลายเป็นพลิกล็อก
เพราะไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่าอะไรจะเกิดขึ้น … จงเลือกอยู่ฝั่งคนกล้าที่จะลอง ที่จะยอมรับผลที่ตามมา และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ความพยายามครั้งต่อไปมันดีขึ้นกว่าเดิม