✍🏼 โรงงานผลิตฟีเจอร์

ว่ากันว่าการสร้างซอฟต์แวร์เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ต้องลองผิดลองถูกและต้องเรียนรู้พัฒนาตลอดเวลา ไม่เหมือนการทำงานในโรงงานในสายพานการผลิตที่ทุกอย่างกำหนดได้ทุกอย่างวัดผลได้ทุกอย่างถูกวางแผนมาแล้ว … และทุกอย่างยิ่งมากยิ่งดี

แต่มาระยะหลังๆเราเริ่มไม่แน่ใจว่าเราทำงานออฟฟิสหรือโรงงานกันแน่เพราะการทำงานทุกวันนี้ให้ความรู้สึกว่าเราเหมือนเป็นเครื่องจักรเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมมาให้ผลิตฟีเจอร์ออกมาให้ได้มากที่สุด … รู้สึกเหมือนกันมั้ย?

ถ้าไม่แน่ใจ … ลองดูว่าตัวอย่างข้างล่างนี้ใช่สิ่งที่เราเจออยู่ทุกวันรึเปล่า?

1. ทีมธุรกิจควบคุมทุกอย่าง

แนวคิดแผนการและคำสั่งส่วนใหญ่มาจากทีมธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงการแก้ไขปรับปรุงงานทั้งหมดต้องผ่านการอนุมัติจากทีมธุรกิจก่อน ทีมพัฒนามีส่วนร่วมน้อยมากกับเรื่องนี้

2. หมกมุ่นอยู่กับการแข่งขันและคู่แข่ง

ใช้กลยุทธ์ “ยิ่งมาก ยิ่งดี” ในการสร้างโปรดักท์ มองหาและสืบเสาะว่าคู่แข่งกำลังทำอะไรและทำให้มากกว่า ลอกเลียนแบบอย่างไม่ลืมหูลืมตา วิสัยทัศน์ของตัวเองนั้นถูกกำหนดได้ง่ายๆและสั้นๆว่า “ลองดูสินค้าตัวนี้ ผมอยากได้แบบนี้เลย”

3. พูดน้อยในเรื่องปัญหาพูดมากกว่าในเรื่องทางแก้

สิ่งที่สร้างรายการฟีเจอร์คือทางแก้คือโซลูชั่น เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการคิดนำเสนอและถกเถียงกันว่าทางแก้คืออะไรและต้องมีฟีเจอร์อะไรอยู่ในนั้นบ้าง น้อยครั้งที่ปัญหาจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวเอกของเรื่อง น้อยครั้งที่ปัญหาจะถูกชำแหละอย่างละเอียดและรอบคอบ น้อยครั้งนักที่ทีมงานทั้งหมดจะเข้าใจและเข้าถึงปัญหาที่พยายามแก้อยู่อย่างแท้จริง

4. โร้ดแมปเต็มไปด้วยรายการฟีเจอร์ที่ต้องทำ

ความอลังการของแผนพัฒนาโปรดักท์ถูกชี้วัดด้วยความยาวของรายการฟีเจอร์ที่จะทำ เนื้อที่เพียงส่วนน้อยถูกอุทิศให้กับคำว่าผู้ใช้ ปัญหา ทางเลือกในการจัดการปัญหา เป้าหมายระยะสั้นกลางยาว กลุ่มตลาดเป้าหมาย แนวทางการสร้างรายได้ และแผนสำรอง

5. ไม่มีการวัดผลที่ปลายทาง

ไม่มีความพยายามเชื่อมโยงฟีเจอร์กับเป้าหมายปลายทาง “เราทำฟีเจอร์นี้ไปเพื่ออะไร” ไม่ใช่คำถามที่ถูกถามบ่อยๆในทีม การวัดผลเทียบกับสมมติฐานนั้นไม่มี เช่น หลังจากรีลีสฟีเจอร์ชุดนี้ออกไปมีคนสมัครสมาชิกมากขึ้นหรือไม่ มีคนดาวโหลดแอพเพิ่มขึ้นเท่าไร

6. ทุกอย่างคือเรื่องใหม่เสมอ

ทุกรอบคือของใหม่ ฟีเจอร์ใหม่ ลูกเล่นใหม่ ทีมไม่มีเวลาวัดผลและปรับปรุงของเก่าให้ดีขึ้น ไม่มีความสนใจในการปรับเปลี่ยนของเดิมให้เป็นฟีเจอร์ที่สมบูรณ์ขึ้น ทุกคนกระโดดจากของเก่าไปหาของใหม่ตลอดเวลา

7. สลับสับเปลี่ยนทีมบ่อยๆ

เพราะงานที่เร่งรีบตลอดเวลา การย้ายยุบควบสร้างทีมจึงพบเห็นได้บ่อยครั้ง ด้วยการเอาปริมาณงานเป็นที่ตั้ง ความสำคัญของคนในฐานะสมาชิกในทีมจะลดลงกลายเป็นสิ่งของที่แลกเปลี่ยนซื้อขายได้ ความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานเป็นเรื่องรอง ความเหมาะสมและความชอบในเนื้องานของแต่ละบุคคลถูกมองข้าม

8. การรีลีสคือเป้าหมายสูงสุด

ทุกคนทำงานเพื่อรอวันรีลีสรอวันที่โปรเจกต์จบ การรีลีสเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่ทุกอย่างต้องหลีกทางเพื่อให้มันเกิดขึ้น คุณภาพถูกละทิ้งเพียงเพื่อให้การรีลีสดำเนินต่อไปได้ การเลี้ยงฉลองเกิดขึ้นทันทีที่ส่งมอบงานเรียบร้อยเหมือนว่าภารกิจสำเร็จเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์แล้ว ไม่มีติดตามผล ไม่มีสืบข่าวความเป็นไปหลังจากนั้น

9. มันเป็นแค่เรื่องของปริมาณและตัวเลข

การวัดผลที่เน้นหนักไปที่เชิงปริมาณและตัวเลขโดยขาดความใส่ใจในเชิงคุณภาพ ยอดขายเดือนนี้กับคุณภาพโดยรวมของซอฟต์แวร์ จำนวนฟีเจอร์ที่ส่งมอบกับความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในทีม จำนวนพนักงานที่มีกับระดับความความเหมาะของงานและบุคคล

10. เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าการเพิ่มฟีเจอร์คือยาวิเศษ

ผู้บริหารและทีมงานมีความเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์เข้าไปอีก ถ้าโปรดักท์ขายไม่ได้ก็เพิ่มฟีเจอร์ ถ้าโปรดักท์ไม่เป็นที่นิยมก็เพิ่มฟีเจอร์ ถ้ายอดขายเริ่มตกต่ำก็เพิ่มฟีเจอร์ ถ้าคู่แข่งกำลังไล่ตามมาติดๆก็เพิ่มฟีเจอร์ การเพิ่มฟีเจอร์คือยาวิเศษที่รักษาได้ทุกโรค

ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่โรงงานยุค 4.0 🙂

1 thought on “✍🏼 โรงงานผลิตฟีเจอร์”

  1. Pingback: ✍🏼 สัญญาณ 10 ข้อที่บอกว่าทีมโปรดักท์ของเรากำลังมีปัญหา – ปิโยรส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *