เหลือบไปมองแบ็คล็อกที่ยาวเฟื้อยแล้วเรารู้สึกอย่างไร?
รู้สึกถึงความพร้อม รู้สึกถึงความขยัน รู้สึกถึงความเป็นระเบียบ
หรือ
รู้สึกถึงกรอบ รู้สึกถึงภาระ รู้สึกถึงความล้าสมัย
มองงานในมือตอนนี้แล้วให้ความรู้สึกอย่างหลังมากกว่า เพราะความรู้สึกว่าตัวเองเริ่มตกเป็นทาสแบ็คล็อกที่ตัวเองเขียนขึ้นมา
จุดเริ่มต้นของงานไม่ควรมาจากแบ็คล็อกแต่เป็นอะไรที่สูงกว่านั้นอย่างวิสัยทัศน์ ปัญหาและฟีดแบ็คจากลูกค้า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่การลอกเลียนแบบคนอื่นที่ดีกว่าเรา … จุดเริ่มต้นควรเป็นภาพใหญ่ไม่ใช่รายละเอียดงานยิบย่อยอย่างแบ็คล็อก
เมื่อภาพใหญ่เปลี่ยน ภาพเล็กก็จะไม่สะท้อนความจริงอีกต่อไป ขืนและฝืนทำไปก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่า
วันนี้จุดเริ่มต้นของงานเราอยู่ที่ไหน?
สตีฟ จ๊อบส์กำลังพัฒนาคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ในขณะนั้น แอปเปิ้ล ลิซ่า (Apple Lisa) แผนถูกวางไว้ งานถูกกำหนด คนถูกมอบหมายหน้าที่ สเปคที่ละเอียด เดดไลน์ที่ชัดเจน … จนมีอยู่วันหนึ่ง (ปี 1979) จ๊อบส์ได้โอกาสเข้าดูงานที่บริษัท ซีร๊อกส์ (Xerox) สิ่งที่จ๊อบส์เห็นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่แอปเปิ้ลทำ จ๊อบส์ตกตะลึงไปกับสิ่งที่เรียกว่า จียูไอ (Graphic User Interface — GUI) ที่มีกล่องบนหน้าจอ มีเม้าส์ไว้คอยเลื่อนเคอร์เซอร์และคลิ๊ก มันเป็นการเปิดประสบการณ์ที่จ๊อบส์ลืมไม่ลง
กลับมาที่ออฟฟิศตัวเองและจ๊อบส์บอกกับทีมงานทันทีว่า “เราต้องทำแบบนี้ เราต้องลงทุนในจียูไอ” ด้วยเสียงต่อต้านอย่างหนักจากหลายฝ่ายเพราะแอปเปิ้ลหมดเงินกับโปรเจกต์ลิซ่าไปหลายล้านเหรียญแล้ว แต่จ๊อบส์ก็คือจ๊อบส์ และจียูไอก็ถูกพัฒนาเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของสินค้าจากแอปเปิ้ล
ถึงแม้แอปเปิ้ลลิซ่าจะล้มเหลวในมุมการขาย แต่มันก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเรื่องการพัฒนาโปรดักท์