👨🏽‍💼 อย่าให้มากเกิน

ซอฟต์แวร์ที่มีฟีเจอร์มากอาจจะน่าดึงดูดในช่วงแรก ฟีเจอร์มากก็เชื่อได้ว่าจะสะดวกสบายมาก ฟีเจอร์มากก็มีแนวโน้มสูงที่จะใช้งานง่าย ฟีเจอร์มากน่าจะแปลว่าตอบความต้องการของเราได้ครบ

คำว่า “ความต้องการ” นี่แหละที่เป็นประเด็นน่าสนใจ ไม่ใช่ทุกครั้งความต้องการของเราจะถูกต้อง ไม่ใช่ทุกครั้งที่ความต้องการของเราจะสมเหตุสมผล ไม่ใช่ทุกครั้งที่ความต้องการของเราเป็นเรื่องที่ควรได้รับการตอบสนอง

  • ฉันอยากกินบุฟเฟ่ต์ทุกวัน
  • ฉันอยากนั่งดูหนัง 24 ชั่วโมงติดต่อกัน
  • ฉันอยากได้รถคันใหม่

เราอยากได้สิ่งที่ไม่ควรจะได้ในตอนนี้ เราอาจจะถูกตามใจจนเสียนิสัย

การใช้ซอฟต์แวร์ก็ไม่ต่างกัน ใครจะปฏิเสธบ้างว่าเทคโนโลยีไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต, การมองโลก, และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

ฉันมีความอดทนน้อยลง ฉันต้องการอะไรที่ด่วนทันที ฉันหลงตัวเองมากขึ้น ฉันต้องการยอมรับจากสังคมในโลกออนไลน์มากกว่าคนใกล้ตัว และอื่นๆอีกมาก

เราเปลี่ยนไปเพราะความสะดวกสบาย และเริ่มรู้สึกถึงประเด็นนี้เมื่อได้ลองใช้ซอฟต์แวร์บางตัว ส่วนใหญ่ที่เจอคือการใส่ฟีเจอร์เข้ามามากเพื่ออำนวยความสะดวกและยืดหยุ่น เช่น ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการโปรเจกต์ ผู้ผลิตหลายรายพยายามทำให้มันง่ายที่จะสร้างงาน (ทากส์), สร้างโปรเจกต์, จับคนลงงาน, สร้างความสัมพันธ์ระหว่างงาน, สร้างแผนการรีลีส, ติดตามความคืบหน้าของงาน, สร้างรายงานได้มากมายหลายรูปแบบ ด้วยความง่ายตรงนี้มันเหมือนเป็นการบอกผู้ใช้โดยนัยว่า

  1. เธอควรมีทากส์เยอะๆ (กรุ๊ป, ฟีเจอร์, ทาสก์, ซับ-ทาสก์)
  2. เธอควรวางแผนการรีลีสล่วงหน้าไว้ไกลๆ
  3. เธอควรมีวิธีการติดตามความคืบหน้าของงานแบบละเอียดยิบ (สกรัมบอร์ด, คันบันบอร์ด, และอีกหลายบอร์ด)
  4. เธอควรใช้รายงานหลายๆแบบที่ฉันเตรียมไว้ให้ในการสื่อสารกับคนอื่นๆ

มันไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องผิด แต่โดยแก่นแท้ของการบริหารโปรเจกต์นั้นมันไม่มีอะไรสำคัญเท่าการสื่อสารและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างทีมงาน และปัญหาที่เจอมากับซอฟต์แวร์ที่มีฟีเจอร์เยอะเกินไปคือ … มันไม่ค่อยจะเฟรนด์ลี่เท่าไรสองเรื่องนี้

ยิ่งละเอียดมากยิ่งอ่านยาก ยิ่งมีเยอะยิ่งเข้าใจยาก ยิ่งใช้มากยิ่งพูดคุยกันน้อยลง … นั่นมันทำให้การจัดการยากขึ้น เพราะฟีเจอร์ที่มากเพื่อความสะดวกสบายที่มากมันทำให้เราถูกตามใจมากเกินไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *