ผมจำไม่ได้แน่ชัดว่าผมเริ่มต้นใช้จิร่าหรือเทรลโล่ก่อนกัน … อาจจะพร้อมๆกันมั้ง สองแอพนี้มีจุดมุ่งหมายคล้ายๆกันคือเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการงานในโปรเจกต์ งานของทีม รวมถึงงานส่วนตัวด้วย
อารมณ์ที่ได้รับจากสองแอพนี้ต่างกัน จิร่าดูครบถ้วนและหลากหลาย เทรลโล่ดูง่ายและรวดเร็ว ช่วงเวลาที่ทดลองใช้นั้นผมรู้สึกว่าจิร่าถูกสร้างมาเพื่อองค์กรขนาดกลางถึงใหญ่ที่ต้องการความเป็นทางการการควบคุมที่เข้มงวดและมีการทำงานแบบแบ่งทีมที่มีลำดับขั้นพอสมควร ในขณะที่เทรลโล่นั้นเหมาะกับองค์กรและทีมขนาดเล็กที่มีกระบวนการทำงานที่ไม่ซับซ้อนไม่เป็นทางการมากและเน้นความเร็ว
ด้วยความที่จิร่ามีเป้าหมายที่จะให้บริการลูกค้าระดับสูง จิร่าจึงสร้างฟีเจอร์อะไรออกมามากมาย
- บอร์ดหลายรูปแบบ ซัพพอร์ตทั้งคันบัน, สกรัม, โปรเจกต์ทั่วไป, รวมถึงบอร์ดแบบลูกผสม
- การออกแบบเวิร์คโฟลที่เหมาะกับลักษณะการทำงานงานของแต่ละทีม
- รีพอร์ตมากมายที่ละเอียดยิบ
- การอินทริเกรตกับแอพอื่นๆทั้งในตระกูลเดียวกันอย่างฮิปแชท บิทบั๊กเก็ต หรือ คอนฟลูเอ้นท์ รวมถึงกับแอพภายนอกด้วย
- การมีทางเลือกในการใช้งานแบบติดตั้งเองที่เซิร์ฟเวอร์หรือบนคลาวด์
- และอื่นๆ
จิร่าจัดเต็มและเต็มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เทรลโล่เริ่มต้นจากด้านล่างด้วยการเลือกเป้าหมายที่ต่ำกว่าในแง่ความต้องการ, กำลังซื้อ, และสัดส่วนในการทำกำไร เทรลโล่จึงถูกสร้างมาแบบเหมือนว่า “จะไม่มีอะไร” ดูเหมือนว่าเทรลโล่จะเป็นแอพที่มีวรรณะต่ำกว่าจิร่า และในช่วงนั้นแอทลาสเซี่ยน (บริษัทผู้ผลิตจิร่า) เองก็ไม่ได้มองว่าเทรลโล่เป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ ที่สำคัญที่สุดคือพวกเค้าไม่คิดว่าตลาดระดับล่างจะมีโอกาสเติบโตขึ้นมาเป็นตลาดที่มีศักยภาพ
แต่แล้วก็มีเรื่องน่าสนใจเกิดขึ้น ในระหว่างที่แอทลาสเซี่ยนมุ่งมั่นพัฒนาจิร่าให้ดียิ่งๆขึ้นไปตามความต้องการของลูกค้าระดับสูง ฟอกครีก (ผู้ผลิตเทรลโล่) ก็ทำแบบเดียวกัน ปรากฏการณ์ดิสรัพทีฟก็เกิดขึ้นเมื่อจิร่าเติบโตกลายเป็นแอพที่ดีเกินความต้องการของตลาดและเทรลโล่ก็เติบโตไล่หลังมาจนมีฟังก์ชั่นการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของตลาดระดับสูงได้มากขึ้นเรื่อยๆ … ตามรูป
เรื่องนี้น่าสนใจแล้วใช่มั้ย?
เพราะในช่วงเริ่มต้นเทรลโล่เหมือนเป็นแอพชั้นสองที่มีความสามารถจำกัด เหมือนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพแย่กว่าเก่า เหมือนเล่นในตลาดที่ไม่มีอนาคตอย่างตลาดล่าง … แต่ด้วยปัจจัยทั้งหมดนั้นแหละที่ทำให้เทรลโล่กำลังคืบคลานรุกเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามของจิร่า – ตลาดระดับสูง
เพราะตอนนี้เทรลโล่ “ดีพอ” ที่จะเรียกความสนใจจากตลาดบน
เพราะตอนนี้เทรลโล่ “เสถียรพอ” ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าระดับบน
เพราะตอนนี้เทรลโล่ “ง่ายกว่า” ในการใช้งานของลูกค้าทั้งระดับบนและล่าง
เพราะตอนนี้เทรลโล่ “ตั้งราคาที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับฟีเจอร์ที่มี” ให้กับลูกค้าทั้งสองระดับ
เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้จิร่าและแอทลาสเซี่ยนเจอคู่แข่งม้ามืดตัวฉกาจที่กำลังไล่เก็บลูกค้ากลุ่มบนด้วยข้อเสนอที่ “คุ้มค่ากว่า”
เส้นกราฟข้างบนนั้นสำคัญจริงๆสำหรับคนที่สนใจเรื่องการสร้างโปรดักท์ มันชี้ให้เห็นว่าดีที่สุดก็แพ้ได้ มากที่สุดก็แพ้ได้ และเป็นการแพ้แบบไม่ทันตั้งตัวซะด้วย
ไม่ใช่แค่จิร่าและเทรลโล่ ปรากฏการณ์ดิสรัพทีฟ (นำเสนอโดยศาสตราจาย์ เคลย์ตัน คริสเตียนเซ่น) นั้นมีมานานแล้ว เช่น จากเมนเฟรม – มินิคอมพิวเตอร์ – เดสก์ท็อปพีซี – แล็ปท็อป – แฮนด์เฮล – โทรศัพท์มือถือ … และจะมีอยู่อีกต่อไปเรื่อยๆในอนาคต
ป.ล. เพราะแอทลาสเซี่ยนดูแล้วว่าหนทางการแข่งขันกับฟอกครีกในตลาดนี้มันยากมาก พวกเค้าเลยตัดปัญหาด้วยการซื้อเทรลโล่มันซะเลยด้วยเงิน 425 ล้านเหรียญสหรัฐ … ง่ายกว่าเยอะ
Pingback: ✍🏼 โปรดักท์สำหรับคนทั่วไป – ปิโยรส – ธุรกิจ, สตาร์ทอัพ, ซอฟต์แวร์