พูดเรื่อง Testing หลายคนจะนึกถึงความน่าเบื่อและเสียเวลา Product Owner หรือ Product Designer หลายคนจึงไม่ค่อยอยากเปลืองพลังงานในการทำ Usability Testing* ซักเท่าไร ผมอ่านเจอบทความที่ให้มุมมองที่แตกต่างในเรื่องนี้ของ เจคอบ นีลเซ็น (Jakob Nielsen) … เค้าบอกโดยสรุปว่า
เราวิเคราะห์เหตุผลได้หลายข้อจากกราฟด้านล่าง ที่ชัดเจนมากคือเราจะไม่เรียนรู้อะไรเลยถ้าเราไม่ได้ทำ Usability Testing (จำนวนผู้ใช้ = 0)
แต่ทันทีที่เราเริ่มทดสอบกับผู้ใช้คนแรก — การเรียนรู้เรื่องการออกแบบของเราจะพุ่งกระฉูดขึ้นไปถึงเกือบ 30%
เมื่อเราเริ่มสังเกตการใช้งานโปรดักส์ของเราจากผู้ใช้คนที่สอง — เราจะเห็นรูปแบบเดียวกับที่เราเห็นจากผู้ใช้คนแรกบวกกับรูปแบบการใช้งานใหม่ๆที่เรายังไม่ได้เห็น ผู้ใช้คนที่สองจะสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆให้กับเรา ถึงแม้สัดส่วนของมันจะไม่ใหญ่เท่าการเรียนรู้ที่เราได้จากผู้ใช้คนแรกก็ตาม
ผู้ใช้คนที่สาม — เราจะเห็นอะไรซ้ำๆเดิมๆที่ได้เห็นมาแล้วจากสองคนแรก แต่เราก็จะมีโอกาสได้เห็นอะไรใหม่ๆจากผู้ใช้คนที่สามด้วยเช่นกัน แต่สัดส่วนการเรียนรู้ใหม่ๆจะลดลงไปอีก
เราจะเรียนรู้ได้น้อยลงเรื่อยๆจากผู้ใช้คนต่อไป ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงปัญหาในการออกแบบโปรดักส์ของเราให้ครบ 100% เพราะมันเป็นไปได้ยากและเป็นการเสียเวลาโดยไม่คุ้มค่า สิ่งที่เราควรจะทำคือเก็บข้อมูลปัญหาที่ได้ประมาณ 80% นั้นไปแก้ไขและปรับปรุงโปรดักส์ของเราเพื่อรัน Usability Testing รอบต่อไปจะดีกว่า
ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือ “เราควรทำ Usability Testing เล็กๆให้ได้หลายๆรอบมากกว่าทำรอบใหญ่รอบเดียว” ถ้าเรามีเวลาและงบประมาณในการทดสอบกับผู้ใช้ 15 คน … เราควรแบ่งทำสามครั้ง ครั้งละห้าคนนะ เหตุผล …
- ทดสอบ 15 ครั้งกับผู้ใช้คนเดียว — ทำแบบนี้เราจะไม่ได้มุมมองและรูปแบบการใช้งานโปรดักส์ในแบบอื่นนอกจากของผู้ใช้คนนี้คนเดียว เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นรูปแบบโดยทั่วไปของการใช้งานได้ … ยากที่จะสรุปว่าอะไรดีหรือไม่ดี
- ทดสอบหนึ่งครั้งกับผู้ใช้ 15 คน — ทำแบบนี้นอกจากจะเป็นการเสียเวลาเพราะผู้ใช้คนหลังจะให้ข้อมูลซ้ำๆแล้ว เราจะหมดโอกาสในการทดสอบโปรดักส์อีกครั้งหลังจากแก้ไขและปรับปรุง … เป็นไปไม่ได้ที่แก้ครั้งแรกครั้งเดียวแล้วจะถูกต้องทั้งหมด การทดสอบครั้งที่สองสามจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ผมว่าจริงๆแล้วการทำ Usability Testing มันก็ไม่ได้เสียเวลาอะไรมากนะ ถ้าจะเลือกผู้ใช้แค่ห้าคน … ข้อมูลและการเรียนรู้ที่เราจะได้รับมันจะคุ้มค่าแน่นอน
*Usability Testing (คร่าวๆ) คือ การทดสอบการออกแบบ การทำงาน และการใช้งานของโปรดักส์เรากับผู้ใช้ตัวจริง นี่ไม่ใช่แค่เอา UI Screen หรือ Wireframe ให้ดูแล้วถามว่า “รู้สึกยังไงครับ ชอบมั้ยครับ เข้าใจว่ายังไงครับ?” แต่หลักการที่นิยมเลยคือการเอาโปรดักส์ที่ทำงานได้จริงที่อาจจะอยู่ในรูปแบบของ Working Software หรือ Interactive Prototype ให้ผู้ใช้ลองใช้งานโดยที่เราคอยสังเกตว่าเค้าใช้งานมันอย่างไร มีติดขัด มีสงสัย หรือมีใช้งานผิดวัตถุประสงค์ตรงไหนบ้าง