ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาผมเป็นคนชอบทำอะไรเป็นคนแรก สมัยเรียนนี่ชัดเลย
- ทดสอบวิชาพละศึกษา (จำกันได้มั้ย) พวกเสิร์ฟปิงปอง โยนลูกแบดไปมุมคอร์ท กระโดดตบวอลเลย์ หรือชู๊ตลูกโทษในบาสเก็ตบอล — ตอนเรียนม.6 ผมแฮปปี้มากกกก เพราะเลขที่ 1 … สอบปฏิบัติพวกนี้ได้ทำก่อนเพื่อนตลอด
- พรีเซ็นต์งานหน้าชั้น ของโปรดเลยขอเป็นอาสาสมัครคนแรกเสมอ — ผมแฮปปี้เพื่อนร่วมห้องก็แฮปปี้เพราะไม่มีใครอยากออกไปโดนเฉือดเป็นตัวอย่าง
ผมมั่นใจ? ผมกล้า? ผมเก่ง? — ป่าวเลย ผมกลัวต่างหาก การทำอะไรพวกนี้เป็นคนแรกคือการสลัดความกดดันออกไปจากความรู้สึกของผมให้เร็วที่สุด ผมไม่อยากแบกมันไว้นาน ผมไม่อยากรู้ว่าคนก่อนหน้าผมจะทำได้ดีกว่าผมมากแค่ไหน ผมไม่อยากเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ผมกลัวนั่นเอง
หลังจากผมทำอะไรพวกนั้นเสร็จ ผมจะเข้าโหมด “ช่างแม่ง” ทันทีเพราะผมรู้ว่าผมแก้ไขผลลัพธ์อะไรไม่ได้แล้ว ใครเป็นเหมือนผมบ้างที่พอออกจากห้องสอบปุ๊บจะวิ่งหนีมาไกลๆจากเหล่าเพื่อนที่จับกลุ่มกันถามว่า “เฮ้ย ข้อนี้ตอบอะไร”, “ข้อนี้ตีความได้แบบนี้เหมือนกันรึเปล่า”, “แล้วข้อนั้นแกวาดรูปอะไรไปด้วยมั้ย” — ไม่อยากรับรู้โว้ยยยย
ความรู้สึกอยากทำอะไรให้เสร็จเป็นคนแรกก็ยังติดตัวผมมาจนถึงวัยทำงาน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้ครับ
การทำอะไรเป็นคนแรกเป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับผมอยู่เหมือนเดิมตราบใดที่มันไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับคนอื่น 😇
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น การเป็นคนแรกอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไปเพราะ
- เราอาจจะฟังข้อมูลได้ไม่ครบทุกด้านและคิดยังไม่ถี่ถ้วน
- ทำให้คำพูดของเราเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง (โดยไม่ตั้งใจ)
- ทำให้คนอื่นที่เหลือไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเอง
- และทำให้เราอาจจะเสียใจในสิ่งที่พูดและทำลงไปภายหลัง
เมื่อมันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงต่อคนอื่น เราเข้าโหมด “ช่างแม่ง” ไม่ได้ครับ ดังนั้นผมจะค่อนข้างควบคุมตัวเองไม่ให้พูดหรือแสดงความคิดเห็นเป็นคนแรกถ้าผมไม่มั่นใจจริงๆว่าไตร่ตรองในสิ่งที่จะพูดไว้ดีแล้ว … หรือไม่โดนบังคับให้ต้องพูดเป็นคนแรก ผมเชื่อว่าการพูดที่ดีเริ่มต้นด้วยการฟังที่ดีครับ
การโชว์แมนทำอะไรเป็นคนแรกบางมุมก็มองได้ว่าเก่งกล้าสามารถ บางมุมก็มองได้ว่าใจร้อน สะเพร่า ไม่รู้กาลเทศะได้เหมือนกัน