2️⃣ สองด่านสำคัญ

การทำโปรดักท์ออกมาขายถูกแบ่งเป็นสองด่าน

ด่านหนึ่ง — การเรียนรู้เพื่อเข้าใจ มันคือช่วงเวลาแห่งความสับสน ช่วงเวลาแห่งความไม่แน่ใจ ช่วงเวลาแห่งความล้มเหลว มันเป็นเรื่องปกติมากถ้าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น

  • เห็นโอกาสแต่ไม่เห็นแนวทางที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้
  • นั่งเทียนเขียนสเปคออกมาแบบมึนๆ
  • คนที่เราคิดว่าน่าจะสนใจในโปรดักท์ตัวนี้กลับตอบปฏิเสธทุกราย
  • ฟีเจอร์ที่เราคิดว่าเป็นจุดขายไม่มีใครต้องการ
  • โปรโตไทป์เวอร์ชั่นแรกง่อยมาก
  • โปรโตไทป์เวอร์ชั่นสองห่วยกว่าเดิม
  • เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายการขายแล้วก็ยังไม่คลิ๊ก
  • ราคาที่ตั้งไว้ถูกมองว่าแพงไปซะทุกครั้ง
  • โปรโตไทป์เวอร์ชั่นสามเหมือนแก้หมดและทำใหม่
  • เราพยายามจนเจอคนที่สนใจจะเป็นลูกค้ารายแรก
  • เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการจูงใจให้เค้าซื้อด้วยโปรโตไทป์เวอร์ชั่นสี่ที่เริ่มทำงานได้
  • เราเริ่มต้นเข้าใจมากขึ้นว่าจริงๆแล้วลูกค้าต้องการอะไรจากโปรดักท์ของเรา
  • สเปคเก่าถูกฉีกทิ้งเขียนใหม่
  • เทคโนโลยีเดิมตกยุคไปแล้ว เทคโนโลยีใหม่ถูกเลือกเข้ามาแทนที่
  • โปรโตไทป์เวอร์ชั่นสี่ไม่ตอบโจทย์แล้ว ทั้งในเชิงธุรกิจ, เทคนิค, และความต้องการของลูกค้า
  • โปรโตไทป์เวอร์ชั่นห้าถูกสร้างขึ้นมาด้วยความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นมาก
  • โปรโตไทป์เวอร์ชั่นห้าถูกอัพเกรดมาเป็นระบบจริงที่ลูกค้าใช้จริง
  • เมื่อต้องเผชิญหน้ากับโลกความจริง เราจะเริ่มเห็นข้อผิดพลาดและจุดที่ต้องปรับปรุงเยอะขึ้นมาก
  • โปรโตไทป์เวอร์ชั่นห้าถูกพัฒนาให้ดีขึ้นพร้อมทั้งเป็นเวอร์ชั่นที่เราพยายามขายลูกค้ารายถัดไป
  • ครั้งนี้หลายคนถูกใจ หลายคนมองว่าโปรดักท์นี้ด้วยฟีเจอร์แบบนี้มีประโยชน์จริง
  • แต่ยอดขายยังไม่ขยับเพราะราคาที่สูงไป เพราะตลาดไม่พร้อมซื้อในราคาที่เราตั้งไว้และโปรโมชั่นก็ไม่ช่วยอะไร
  • เราเริ่มรู้สึกตัวว่าเราทำผิดพลาดอีกแล้ว ผิดพลาดที่พยายามทำโปรดักท์ที่ดีเกินไปเพื่อขายในราคาแพงเกินไปให้กับกลุ่มลูกค้าที่ไม่พร้อมจ่าย
  • โปรโตไทป์เวอร์ชั่นหกถูกคิดค้นขึ้นไม่ใช่ให้ดีขึ้นแต่เพื่อทำให้โปรดักท์เราเล็กลง เพื่อการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้น
  • โปรโตไทป์เวอร์ชั่นหกไม่ใช่เวอร์ชั่นห้าที่มาหักลบ มันคือเวอร์ชั่นใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่และสเปคใหม่
  • แผนธุรกิจถูกปรับแก้อีกรอบ ราคาถูกกำหนดขึ้นใหม่ เหมือนเรามาเริ่มจากศูนย์อีกแล้ว
  • ครั้งนี้เรามั่นใจมากขึ้น เราเริ่มได้รับเสียงตอบรับที่ดีขึ้นจากกลุ่มเป้าหมาย
  • แต่เราก็มารู้ตัวว่าเวอร์ชั่นหกนั้นยังไม่พร้อมขาย มันยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการทำให้มันดีเพียงพอที่จะอยู่กับเราไปได้อีกยาวๆ โดยไม่ต้องมีเวอร์ชั่นเจ็ดหรือแปดถูกสร้างขึ้นมาภายในอีกหกเดือนข้างหน้า
  • ยังจำเวอร์ชั่นห้าที่เราขายให้ลูกค้ารายแรกได้มั้ย? นั่นก็ยังต้องทำอยู่ เป็นโปรดักท์สำหรับตลาดที่พร้อมจ่าย และในเวลาเดียวกันเราก็ต้องทำเวอร์ชั่นหกให้เป็นรูปเป็นร่างให้เร็วที่สุด นั่นคือความกดดัน

เราต้องผิดพลาดกี่ครั้ง เราต้องล้มเหลวกี่รอบ …​ ไม่ว่าจะกี่ครั้งและกี่รอบ เรายังฝ่าไปไม่พ้นด่านหนึ่งเลย

ด่านหนึ่งยากแสนสาหัส ด่านหนึ่งคือบทพิสูจน์ความอดทน ด่านหนึ่งคือด่านที่มีคนข้ามผ่านไปได้น้อยมากๆ ด่านหนึ่งคือเอเวอเรสของทุกคนที่อยากสร้างอะไรขึ้นมาด้วยมือของตัวเอง

ด่านสอง? ด่านสองคือการขาย ขายโปรดักท์ที่ผ่านการทดสอบมาแล้วว่าเวิร์คทั้งในเรื่องเทคนิค ราคา และตอบโจทย์ตลาดได้อย่างสมบูรณ์

ด่านสองไม่ใช่ไม่ยาก มันก็ยากและท้าทายในแบบของมัน แต่ด่านสองจะไม่เกิดถ้าไม่มีด่านหนึ่ง

“ตอนนี้เรายังอยู่ด่านหนึ่งเลยครับ เรายังไม่ต้องกังวลมากว่าจะขายใครได้เยอะแค่ไหน … หน้าที่ของเราคือเรียนรู้และทำโปรดักท์ที่ถูกต้องที่สุดที่เป็นไปได้ขึ้นมาก่อน” — ผมเล่าให้น้องในทีมฟังเรื่องคอนเซปของคำว่าด่านหนึ่งและด่านสอง 🏊🏻‍♂️🚴🏻‍♂️🏃🏼‍♂️

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *