ซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นหนึ่งควรมาจากผู้สร้าง
ไอเดีย แนวทาง แนวคิด ปรัชญา เป้าหมาย วิสัยทัศน์ ฟีเจอร์หลัก จุดแข็ง จุดอ่อน … ทุกอย่าง
หลายครั้งเราคิดว่าเราต้องทำอะไรเพื่อผู้ใช้ … ถูก
หลายครั้งเราคิดว่าเราต้องเริ่มต้นด้วยการไปถามผู้ใช้ว่าอยากได้อะไร … อย่าดีกว่า
ในเวอร์ชั่นแรกเราในฐานะผู้สร้างมีหน้าที่กำหนดธีมทั้งหมดของซอฟต์แวร์ของเรา
ย้ำว่าของเรา … แปลว่าเราควรได้โอกาสในการใส่ไอเดียและความเป็นตัวเองลงไปให้เต็มที่โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ ไม่ใช่ทำตามคำสั่ง
เราเปิดหูรับฟัง เราเปิดสมองคิดตาม … แต่เราต้องกล้าที่จะตัดสินใจด้วยความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ว่า “คนนั้นอยากได้แบบนี้” และ “คนนี้อยากได้แบบนั้น”
เวอร์ชั่นหนึ่งควรเป็นเพียงจุดเริ่มต้น (ไม่ใช่จุดจบ) ของเส้นทางอันยาวไกล เพราะเวอร์ชั่นหนึ่งคือความเป็นตัวเรา … เมื่อมันถูกรีลีสออกไปแล้ว จากนี้ไปเราต้องเริ่มรับฟังผู้ใช้มากขึ้น
ฟังว่าพวกเขาคิดอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ พวกเขาเชื่อในแบบเดียวกับเราหรือไม่ พวกเขาอยากได้อะไรเพิ่ม พวกเขาไม่ชอบจุดไหน และสำคัญที่สุดคือการวัดผลว่าเวอร์ชั่นหนึ่งของเราช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ได้จริงหรือไม่
ทั้งหมดนี้เพราะผู้ใช้เก่งในการอธิบายปัญหาแต่ไม่ใช่การสร้างโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหา นั่นคือหน้าที่ของเรา … ที่ต้องแสดงผลงานให้เห็นออกมาผ่านซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นหนึ่ง
เมื่อมันออกมาสู่สาธารณะแล้ว ฟีดแบ็คที่เราได้จะจริงมาก เพราะมันคือโลกความจริง คือผู้ใช้ที่อยู่ในสถานการณ์จริง (ไม่ใช่แค่เซสชั่นการทดสอบ) ข้อมูลจากผู้ใช้ตรงนี้จึงมีค่ามาก มากกว่าข้อมูลในการทำสำรวจ การทำโฟกัสกรุ๊ป และการทำการเทสแบบปลอมๆตอนแรกเยอะมาก
มันคือข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ที่เราเอามาทำประโยชน์ได้อีกมาก
แต่ต้องท่องให้ขึ้นใจว่า … เวอร์ชั่นหนึ่งต้องเป็นของฉันและฉันคนเดียวก่อน