เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งความกดดันและความเร่งรีบ เรารู้ว่าความเปลี่ยนแปลงควรมีขีดจำกัด … มิฉะนั้นงานจะไม่เสร็จตรงเวลาที่กำหนด คำถามคือเมื่อไรเราจึงควรหยุดที่จะเปลี่ยนและแก้ไข?
หนึ่งสัปดาห์ก่อนเดดไลน์? หนึ่งวัน? หนึ่งชั่วโมง? ตราบใดที่เรายังเชื่อว่ามันดีกว่านี้ได้และตราบใดที่เราเชื่อว่ายังมีเวลาเหลือ … เราควรเปลี่ยนและแก้เพื่อสิ่งที่ดีกว่า
มันไม่ใช่แค่การวางแผนอย่างเดียวแต่เราต้องเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์แบบนี้ไว้เสมอ
- เราต้องมีเดดไลน์ซ้อนเดดไลน์และซ้อนเดดไลน์ เช่น เดดไลน์ที่พาร์ทเนอร์ควรรู้ เดดไลน์ที่ลูกค้าควรรู้ เดดไลน์ที่ทีมงานต้องรู้ และเดดไลน์สูงสุดที่มีแค่เราที่ควรรู้
- เราต้องมีแผนสำรองถ้าแผนแรกล้มเหลว เช่น แนวคิดแรกคว่ำไม่เป็นท่าเราต้องมีแนวคิดสำรอง ถ้าพาร์ทเนอร์รายแรกไม่เข้าท่าเราต้องมีรายสองสามอยู่ในใจ
- เราต้องมีระดับขั้นความพึงพอใจและคุณภาพของงานเตรียมไว้เสมอ เช่น ถ้างานนี้เสร็จแล้วเราต้องทำอะไรต่อ ถ้ายังพอมีเวลาเราต้องกลับไปปรับปรุงที่จุดไหน
เราต้องทำทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความรู้สึกหลอกว่า “เรายังมีเวลาเหลือ” และเราควรต้องใช้เวลานั้นอย่างคุ้มค่าทุกหยาดหยดเพื่อสิ่งที่ดีกว่าเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด
อย่ายอมแพ้ง่ายๆ อย่าพอใจกับอะไรที่เดิมๆ อย่ากลัวที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือแม้แต่โละทิ้งแล้วทำใหม่ทั้งหมด เราควรต้องภูมิใจกับผลงานที่ออกมาและถ้ามันจะช้าไปอีกนิดหรือเหนื่อยมากขึ้นอีกหน่อยเราก็ต้องยอม เราต้องลุยไปข้างหน้าจนมันหมดเวลาแล้วจริงๆ