มีอะไรอยู่ในคำว่า “ผู้จัดการ” ทำไมเมื่อใครสักคนมองหาความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต้องคิดถึงคำนี้
- มันคือคำลงท้ายที่ดูมีพลังอำนาจ
- มันคือเครื่องพิสูจน์ความสามารถ
- มันคือหลักประกันรายได้ที่เพิ่มขึ้น
- มันคือแรงจูงใจให้พัฒนาตัวเอง
- มันคือหลักฐานแห่งความสำเร็จ
- มันคือเรื่องราวที่จะเล่าขานไปได้อีกสักระยะ
มันคืออะไรหลายๆอย่าง แต่ที่แน่ๆมันไม่ใช่งานง่ายและมันไม่เหมาะกับทุกคน
1️⃣ — มันไม่ใช่เรื่องเดิมแต่มากขึ้น มันคือเรื่องใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
สาเหตุที่ทำให้เราได้ตำแหน่งผู้จัดการมาคืออะไร? ตอบได้เลยว่าเพราะเราพิสูจน์ความสามารถในการทำงานที่เราทำอยู่ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเราจะทำซอฟต์แวร์ เราจะขาย เราจะจัดการเรื่องการเงิน เราจะดูแลการตลาด … ไม่ว่ามันคืออะไรเราทำมันได้ดีมาก เราถึงได้รับการพิจารณาให้มารับตำแหน่งผู้จัดการ
ประเด็นคือการที่เราจะทำงานใหม่นี้ให้ดีนั้นเราต้องการทักษะและความรู้แบบใหม่ทั้งหมด มันไม่ใช่งานเดิมแต่ยากขึ้น มันไม่ใช่การทำซอฟต์แวร์ที่ยากกว่าเดิม มันไม่ใช่เป้าหมายยอดขายที่เพิ่มขึ้นสองเท่า มันคือการต่อสู้กับโจทย์ใหม่ที่เราไม่เคยเจอ มันคือทักษะการสื่อสาร การพูด การฟัง การสร้างความสัมพันธ์ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา ความเป็นผู้นำ การเป็นพี่เลี้ยง การถ่ายทอดความรู้ การคัดเลือกคน และอื่นๆอีกมาก คำถามคือเราเก่งแค่ไหนในเรื่องเหล่านี้? เราพร้อมแค่ไหนที่จะต้องรับภาระแบบนี้ตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งผู้จัดการ?
ความรู้ด้านเทคนิคของเราก็ยังจำเป็นอยู่แต่มันจะถูกลดความสำคัญลงไปอย่างมาก เพราะในแต่ละวันเราต้องผ่านมันไปให้ได้ด้วยการทำงานกับคนและการเรียนรู้ที่จะเข้าใจคน
2️⃣ — มันไม่ใช่การทำงาน มันคือการดูแลการทำงาน
ทันทีที่เรารับตำแหน่งนี้ มันจะไม่ใช่การทำงานของตัวเองอีกต่อไป มันคือการดูแลการทำงานของคนอื่นในทีม งานเทคนิคของเราจะส่งผลน้อยมากเมื่อเทียบกับงานของลูกทีม เราอาจจะไม่ต้องเขียนโค๊ดและเทสเองอีกต่อไป เราอาจจะไม่ต้องร่อนเร่ขายของเองอีกต่อไป แต่เราต้องรับผิดชอบเต็มๆกับผลลัพธ์ที่จะออกมาจากทีมงาน … ไม่ใช่แค่จากตัวเอง
ผู้จัดการบางคนพูดว่า “ผมรับผิดชอบยอดขาย 10 ล้านบาทต่อเดือนครับ” จริงๆแล้วไม่ใช่ จริงๆแล้วต้องพูดว่า “ผมรับผิดชอบให้ทีมงานของผมทำยอดขายให้ได้ 10 ล้านบาทต่อเดือนครับ” ถึงจะถูกต้อง ความหมายคนละเรื่องกันเลยระหว่างการขายกับการสอนให้ขายเป็น
มันจึงไม่ใช่การลุยทำงานด้วยตัวเอง มันคือการถ่ายทอดความรู้ การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม การแบ่งอำนาจในการตัดสินใจให้คนในทีม การช่วยสนับสนุนทีมงานเมื่อเกิดปัญหา … เวลาส่วนใหญ่ของเราจะหมดไปกับเรื่องแนวนี้ เรามั่นใจมั้ยว่าเรายังอยากได้งานนี้อยู่?
3️⃣ — มันไม่ใช่การวัดผลตัวเอง มันคือการวัดผลทั้งทีม
การวัดผลผู้จัดการไม่เคยเกิดขึ้นที่ประสิทธิภาพของตัวผู้จัดการเอง มันต้องดูจากผลงานขององค์กรที่เขาดูแลอยู่ … นั่นคือภาระที่หนักอึ้ง
เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน (ผู้ก่อตั้งเวอร์จิ้น กรุ๊ป) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “อย่าตัดสินความสำเร็จของผมที่ตัวผม ตัดสินจากสิ่งที่ลูกๆผมเป็นและทำ” — ใช่เลย ชีวิตผู้จัดการ
มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้จัดการจะรอดตัวไปได้ถ้าทีมงานของเขาทำงานได้ไม่ดี ไม่ว่าจะเรื่องเนื้องานหรือความประพฤติ ตอนที่เราเป็นเพียงคนทำงานเราจะถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงาน แต่ตอนที่เราเป็นผู้จัดการเราจะถูกเปรียบเทียบมากกว่าเดิมหลายเท่า — ไม่ใช่แค่ตัวเราแต่ลูกทีมเราทุกคน
เรารู้จักตัวเองดีพอรึยัง? เราพร้อมจะรับภาระที่ใหญ่หลวงนี้มั้ย? ผู้จัดการไม่ใช่อาชีพที่เหมาะกับทุกคน และเราไม่จำเป็นต้องตะเกียกตะกายเพื่อไขว่คว้าตำแหน่งนี้ ยังมีทางเลือกอีกมากที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในแนวทางที่เราอยากให้เป็น