✅ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์

หนึ่งในตัววัดผลทางการเงินที่สำคัญของบริษัทใหญ่คือ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สุทธิ หรือ Return On Net Assets หรือ RONA

จากนี้ไปขอเรียกมันว่า “โรน่า”

โรน่าถูกคำนวณมาอย่างง่ายๆด้วยการนำรายได้สุทธิ (Net Income) มาหารด้วยสินทรัพย์สุทธิ (Net Assets) ผลที่ได้ก็จะตีออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์สุทธิของปีนี้อยู่ที่ 25% เป็นต้น โรน่ายิ่งสูงยิ่งดี ยิ่งเข้าเป้า ยิ่งเป็นที่ต้องการ และหมายความว่าโบนัส (ของผู้บริหาร) ก็จะยิ่งเยอะตามไปด้วย

ความน่าสนใจเริ่มต้นขึ้น … เราจะทำยังไงให้โรน่าสูงขึ้นได้บ้าง เราจะทำยังไงให้โรน่าของไตรมาสหน้าพุ่งทะลุเป้า ก็หลักการคณิตศาสตร์ง่ายๆ ถ้าอยากได้ผลลัพธ์เพิ่มก็เพิ่มค่าตัวตั้งหรือไม่ก็ลดค่าตัวหาร หรือไม่ก็ทำทั้งสองอย่าง

มาดูที่ตัวตั้งกันก่อน — รายได้สุทธิที่เกิดจากรายรับลบกับรายจ่าย … ในบางครั้ง (หรือหลายครั้ง) การเพิ่มรายได้สุทธิเป็นเรื่องยาก ต้องหาเงินมากขึ้น ต้องบุกเบิกตลาด ต้องไล่กวาดลูกค้าให้ได้เยอะๆ ต้องเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ต้องคิดโปรดักท์ใหม่ที่เข้าท่า — โคตรยากที่ต้องต่อสู้ฝ่าฟันกับปัจจัยภายนอกที่ไม่แน่นอน

เมื่อการเพิ่มตัวตั้งยากขนาดนี้ … เรามาพิจารณาลดตัวลบดีจะดีกว่ามั้ย ลดรายจ่ายคือสิ่งที่จะถูกนึกถึงเป็นเรื่องแรกๆ อะไรบ้างที่จะลดรายจ่ายได้ละ … ทุกอย่างรวมถึงเอ้าต์ซอสและเลย์ออฟด้วยใช่มั้ย แน่นอน — แต่อยู่ในวิสัยที่ทำได้เพราะมันคือการจัดการภายในทั้งหมด

ตัวตั้งเพิ่มขึ้นแล้ว (ด้วยการลดรายจ่าย) ต่อมาก็จัดการลดตัวหาร

สินทรัพย์ … ตอนนี้เรามีอะไรบ้าง อะไรบ้างที่ขายได้ ที่กระจายได้ ที่เปลี่ยนมือได้ ทำไป ทำเลย ขายโรงงาน อาคาร ปิดไซต์งานที่ต่างประเทศ ยุบรวมสาขาในภูมิภาค อื่นๆอีกเยอะ — ทำได้เช่นกัน เราควบคุมการตัดสินใจทั้งหมดได้

ตัวหารก็ลดลงแล้ว (ด้วยการขายและขาย)

ผลการคำนวณโรน่าจึงออกมาดีเลิศ ตามเป้า (ทะลุเป้า) ชื่นมื่นกันถ้วนหน้าในหมู่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้น แฮปปี้เอ็นดิ้ง


รู้สึกแปลกๆกับเรื่องนี้มั้ย รู้สึกมั้ยว่าโรน่าเป็นเรื่องที่ปั้นแต่งได้ (เหมือนตัวเลขทางธุรกิจอื่นๆ) ด้วยสามัญสำนึกของเราเองการวัดผลด้วยโรน่าไม่ใช่เรื่องผิดแต่วิธีการที่ได้มาซึ่งตัวเลขตามเป้าหมายนั้นควรจะสมเหตุสมผลด้วย

เมื่อเราพูดถึงการขายของให้ได้มากขึ้น การสร้างรายรับที่มากขึ้น การเพิ่มความสามารถในการหาและรักษาลูกค้า ความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้ลูกค้ามากขึ้น ความสามารถในการลงทุนเพื่ออนาคตไกลๆ

แต่เพราะโรน่า … เรากลับคิดถึงเรื่องง่ายและหวังผลระยะสั้นอย่างลดรายจ่าย เอ้าต์ซอสและเลย์ออฟ รวมถึงการลดสินทรัพย์ในมือ

ก็เพราะมันง่าย มันจึงไม่ยั่งยืน และบางครั้งก็ไม่ได้มีแผนรองรับที่รัดกุมเพียงพอ การตัดสินใจแบบนี้อาจจะนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ในอนาคต เมื่อเราสูญเสียความสามารถในการพัฒนาสินค้า เมื่อเราไม่สามารถยืนหยัดต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกนี้ได้อีกต่อไป … การเอ้าต์ซอสและเลย์ออฟก็จะไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป


มองมาใกล้ตัวอีกนิด … วันนี้เราแค่คิดว่าการวัดผลของโรน่ากับเวโลซิตี้นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องผิดแต่วิธีการที่ได้ซึ่งตัวเลขสูงๆนั้นคือประเด็น

เพราะเวลาในสปริ้นท์นั้นตายตัวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (ตัวหารคงเดิม) ดังนั้นเรามาเพิ่มพ้อยท์ให้สูงๆแทนดีกว่า (เหมือนเพิ่มรายรับสุทธิด้วยการลดรายจ่าย)

แทนที่จะโฟกัสพลังงานไปที่การส่งมอบงานคุณภาพด้วยความเร็วที่คาดการณ์ได้ ความสามารถในการลดเวลาทำงานที่ซ้ำๆลงได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย ความสามารถในการทำงานทดแทนกันด้วยการลงทุนกับสมาชิกในทีม และอื่นๆ

มันยากกว่าแน่นอน แต่ก็นั่นแหละ ยากคือยั่งยืน ยากคืออนาคต และยากคือความจริงและข้อเท็จจริงที่จะไม่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงของโลก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *