👉🏼 ฟีเจอร์ถัดๆไป

อะไรคือสิ่งที่เราพิจารณาก่อนเลือกฟีเจอร์ถัดไป? มันขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอะไรจากมัน บางครั้งเราต้องการให้มีคนมาสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น บางครั้งเราต้องการเพิ่มจำนวนทรานแซกชั่น บางครั้งเราอยากให้มันใช้งานง่ายขึ้น และบางครั้งเราอยากลดจำนวนซัพพอร์ตเคสที่ไม่จำเป็นลง … เราต้องการอะไร … ตอนนี้

ประเด็นสำคัญที่เราควรต้องพิจารณาคืออัตราส่วนระหว่างการลงทุนและผลลัพธ์ ในอุดมคติเราอยากจ่ายน้อยเพิ่มให้ได้รับผลตอบแทนมาก แบบนี้:

ฉันใช้เวลาครึ่งชั่วโมงแก้ข้อความบนหน้าจอยูไอ ผลลัพธ์ที่ได้คือปริมาณซัพพอร์ตเคสที่เกิดจากความเข้าใจผิดลดลง 50%

และไม่ใช่แบบนี้:

ฉันซุ่มทำฟีเจอร์ใหม่นี้อยู่เกือบเดือนเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่แค่ 5% … นั่นดูเหมือนจะเป็นการเลือกทำฟีเจอร์ที่ผิดพลาด

เราจะรู้อย่างแน่ชัดได้อย่างไร? ไม่ เราไม่สามารถรู้ได้ เราไม่สามารถจะมั่นใจอะไรได้ มันก็คล้ายกับการเดิมพันนั่นแหละ ไม่มีอะไรที่เราสามารถมองเป็นของตายได้ในกรณีนี้ แต่ก็ยังโชคดีอยู่บ้างตรงที่ด้วยความพยายามเพียงเล็กน้อยเรามีโอกาสจะทำให้เรื่องการคาดคะเนนี้กลายเป็นระบบมากขึ้น

สิ่งที่เราต้องการคือตัวเลขง่ายๆสองตัว หนึ่งคืออัตราการลงทุนซึ่งพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่ามันคือเวลาที่เราต้องใช้ไปเพื่อทำให้ฟีเจอร์นี้เสร็จสมบูรณ์ ตัวเลขนี้ได้จากการพิจารณาความซับซ้อนของงาน ความพร้อมของคนที่รับผิดชอบในงาน และอื่นๆ

ตัวเลขที่สองคืออัตราผลลัพธ์เชิงบวกที่ฟีเจอร์นี้ตอบแทนกลับมา มันอาจจะรวมถึงผลลัพธ์ต่อรายรับ กำไร การใช้งานมากขึ้น ประสิทธิภาพของระบบ ความสุขของทีมงานผู้สร้าง และอื่นๆ

เอาตัวเลขสองตัวนี้มาเข้าสมการง่ายๆเพื่อหาอัตราส่วน แบบนี้:

ฟีเจอร์ 1

  • อัตราการลงทุน = 3/10
  • อัตราผลลัพธ์ = 5/10
  • สัดส่วน = 0.600

ฟีเจอร์ 2

  • อัตราการลงทุน = 5/10
  • อัตราผลลัพธ์ = 8/10
  • สัดส่วน = 0.625

เราจะเลือกงานไหน? ถ้าทีมงานของเรามีเวลาเหลือพอ (แปลว่าเรามีทรัพยากรที่จะลงทุนได้มาก) เราอาจจะเลือกทั้งสองงาน แต่โดยทั่วไปแล้วเรามักจะมีทรัพยากรจำกัดจำเขี่ย (ทั้งเวลาและคน) ในกรณีนี้เราก็เหมือนจะถูกบังคับกลายๆให้เลือกเพียงหนึ่ง และน่าจะเป็นฟีเจอร์ 1 เพราะมันต้องการการลงทุนที่น้อยกว่าแต่ได้ผลลัพธ์กลับมาใกล้เคียงกับฟีเจอร์ 2 … ง่ายพอมั้ย?

ใช่ มันก็ยังคงเป็นการคาดเดาอยู่นั่นแหละแต่ก็เริ่มมีแนวทางความเป็นระบบ มันจะไม่ถูกต้องตั้งแต่แรกๆแต่ถ้าเรายึดมั่นกับมันนานเพียงพอและเราใส่ใจมากเพียงพอที่จะเรียนรู้จากมัน ทักษะในการคาดเดาของพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การประเมินงานของเราจะแม่นยำขึ้น กระบวนการทำงานของเราจะเป็นมาตรฐานมากขึ้น และสุดท้ายการตัดสินใจของเราจะให้น้ำหนักส่วนหนึ่งกับข้อมูลที่เราเรียนรู้มาในอดีต นั่นคือวิธีที่เราจะพยากรณ์อนาคต … ด้วยการมองย้อนอดีตเพื่อมองหารูปแบบที่ซ้ำกันนั่นเอง

ไม่หรอก มันไม่มีทางที่จะสมบูรณ์แบบและนั่นไม่ใช่สาระสำคัญที่เราต้องพยายามขวนขวายหา สิ่งที่เราทำที่นี่ตรงนี้คือการหาวิธีที่จะเรียนรู้ปรับตัวและพัฒนา … นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้ในโลกแห่งการแข่งขันทุกวันนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *