🖥️ เอ็มวีพี 2024

ใครๆก็พูดกันถึงคำว่าเอ็มวีพี (Minimum Viable Product — MVP) ใครๆก็จินตนาการกันว่าโปรดักท์เวอร์ชั่นแรกควรต้องถูกสร้างด้วยแนวคิดเอ็มวีพี … จริงหรือไม่?

คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ก่อนอื่นลองมาทำความเข้าใจกับคำว่าเอ็มวีพีสักนิด

“เอ็มวีพีคือเครื่องมือที่ใช้เริ่มต้นในการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้เร็วที่สุดและราคาถูกที่สุด” — ตีความหมายจากนิยามของอิริก รียส์ ผู้เขียนหนังสือลีน สตาร์ทอัพ (Lean Startup)

เมื่อเอ็มวีพีมีไว้ใช้สำหรับเรียนรู้และพิสูจน์สมมติฐานว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นจะเป็นที่ต้องการของผู้ใช้หรือไม่ เมื่อเอ็มวีพีมีไว้เพื่อช่วยตัดสินใจว่าเราควรเปลี่ยนแผน (ธุรกิจใหม่ โปรดักท์ใหม่ กลุ่มลูกค้าใหม่ ราคาใหม่) หรือไม่ … คำถามตอนนี้คือเราก้าวข้ามการพิสูจน์แนวคิดพวกนั้นหรือยัง

เช่น ระบบซีอาร์เอ็มนั้นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว คนทั่วไปเข้าใจว่ามันคืออะไรมีประโยชน์อะไรและใช้งานอย่างไร การสร้างซีอาร์เอ็มตัวที่ 59,369 ของโลกนั้นไม่ต้องการเอ็มวีพีในนิยามของอิริกเพื่อช่วยพิสูจน์แนวคิด … แต่ถ้าเรากำลังจะทำซีอาร์เอ็มสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายละ? อันนี้น่าสนใจเพราะมันคืออะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน แปลว่าเราไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่านี่คือไอเดียที่เข้าท่า จังหวะนี้เอ็มวีพีเริ่มมีประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ให้เร็วเพื่อการประหยัดงบประมาณและเวลาที่ต้องใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจและโปรดักท์

ด้วยนิยามนี้ขอบเขตเอ็มวีพีจึงไม่จำกัดอยู่แค่ซอฟต์แวร์และการเขียนโค๊ด มันคืออะไรก็ได้ที่ช่วยให้เราเรียนรู้ความต้องการและพฤติกรรมที่แท้จริงของลูกค้าและผู้ใช้ … เวปไซต์ โบรชัวร์ พรีเซนเตชั่น วีดิโอ บล็อก สัมมนา การพูดคุยกับลูกค้าและคนที่เกี่ยวข้อง และอื่นๆอีกมาก

เมื่อเราได้ข้อมูลมามากเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์และแผนการดำเนินการแล้วเอ็มวีพีในรูปแบบที่สองก็จะมีบทบาทมากขึ้น

“เอ็มวีพีคือโปรดักท์ที่มีฟีเจอร์แค่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่มแรกและสามารถเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงฟีดแบคเพื่อการพัฒนาต่อในอนาคต”

เราจะพัฒนาโปรดักท์เวอร์ชั่นแรกอย่างระมัดระวังไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายิ่งน้อยยิ่งดีเสมอไปเพราะถ้ามันน้อยเกินไปประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับก็จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สุดท้ายจะส่งผลให้เราเองจะเจอปัญหาเรื่องรักษาฐานลูกค้าและขยายยอดขาย

มันจึงไม่ใช่การเลือกตัดฟีเจอร์ที่จำเป็นแต่เป็นการเลือกไม่ทำบางรายละเอียด เช่น เราซัพพอร์ตแค่การออกรายงานด้วยไฟล์พีดีเอฟไม่ใช่เอ็กเซลล์ — ไม่ใช่ว่าตัดโมดูลรายงานออกไปทั้งหมด

เราเริ่มต้นที่แอนดรอย์ก่อนโดยไม่มีไอโอเอสแอพ — ไม่ใช่ไม่มีโมบายแอพเลย

เราตั้งต้นที่การเลือกรายการแบบแมนน่วลก่อน — ไม่ใช่ว่าเลือกรายการไม่ได้เลย

การยึดติดกับเอ็มวีพีแบบผิดๆคือ เร่งทำ ตัดทิ้งจนเหี้ยนและไม่ใส่ใจคุณภาพมากเท่าที่ควร เอ็มวีพีไม่ได้แปลว่าคุณภาพต่ำ แต่มันคือโปรดักท์เวอร์ชั่นแรกที่เราต้องการขายเพื่อสร้างรายได้เข้ามา

ถ้าจะขายเอาเงินคนอื่น เราก็ต้องแสดงความรับผิดชอบนิดนึงด้วยการทำโปรดักท์ที่มันเพียงพอที่จะแก้ปัญหาของลูกค้ากลุ่มแรกได้จริงและอย่างมีประสิทธิภาพพอสมควร

ถ้ามันต้องมีฟีเจอร์เยอะมันก็ต้องเยอะ ถ้ามันจะใช้เวลานานสักนิดก็ต้องเป็นตามนั้น … จำไว้ว่าทุกอย่างต้องมีเหตุผลและลูกค้ากับผู้ใช้ต้องมาก่อน

ใช่ เราต้องการเอ็มวีพีในทุกช่วงเวลา ตั้งแต่หาไอเดีย จนถึงโปรดักท์เวอร์ชั่นแรก แม้แต่จะเวอร์ชั่นหลังๆที่ตามมา เอ็มวีพีก็ยังใช้ได้ดีถ้าเรามีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจนและมีวินัยในการทำงานที่เป็นมาตรฐานเพียงพอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *