ความยากในการทำงานบางครั้งไม่ใช่เรื่องงานแต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการงาน คำว่าโปรเจกต์นั้นแพร่หลาย มีอยู่ในทุกที่ เกิดขึ้นได้ทุกเวลา … บางคน (หลายคน) คิดว่าโปรเจกต์คืองานและเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้เกิดงานและเกิดผลลัพธ์
มันอาจจะไม่จริงเสมอไป
ความคิดที่ให้ความสำคัญกับโปรเจกต์มากเกินไปนั้นอันตรายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรเจกต์ระยะยาว ในช่วงเวลาที่โลกหมุนเร็วและความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงบ่อยและง่ายอย่างในทุกวันนี้ ความคล่องตัวคือเรื่องสำคัญและความคล่องตัวจะเกิดขึ้นได้ยากมากถ้าเราพยายามทำโปรเจกต์ยาวๆ
บางคนคิดว่าย่ิงสถานการณ์ไม่แน่นอนเรายิ่งต้องคิดวางแผนให้ไกลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบ ความคิดแบบนี้ผิดถนัดเพราะยิ่งเส้นทางข้างหน้าเลือนลางเราต้องยิ่งค่อยๆก้าวเดินอย่างระมัดระวัง ทีละก้าวอย่างช้าๆ … โปรเจกต์ระยะยาวคือความเสี่ยงอย่างย่ิง
หลายปีที่ผ่านมาเมื่อมีการเรียนรู้ในวงกว้างถึงปัญหาที่เกิดจากการทำงานแบบเป็นโปรเจกต์ … ยุทธวิธีและรูปแบบการทำงานจึงถูกปรับเปลี่ยนไปเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ คำว่าอะไจล์เกิดขึ้นในโลก (เมื่อ 30 ปีที่แล้ว) ด้วยความเชื่อที่ว่า
ในเมื่อการกำหนดเดดไลน์เป็นเรื่องยากเพราะการประเมินระยะเวลาการทำงานอย่างแม่นยำนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ … การทำงานที่กำหนดวงรอบที่ตายตัวจึงลดความสำคัญของคำว่าเดดไลน์ลงไป
ในเมื่อการทำงานร่วมกับคนหลายคนเป็นเรื่องลำบากเพราะความแตกต่างทางลักษณะนิสัยและทักษะ … การปรับขนาดทีมให้เล็กลงเพื่อทำงานอย่างคล่องตัวและมีอำนาจตัดสินใจในระดับที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากขึ้น
ในเมื่อการคาดการณ์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าเป็นเรื่องยากมากขึ้นทุกวันทั้งในแง่รายละเอียดและลำดับความสำคัญ … การลดกระบวนการคิดล่วงหน้าแล้วเดินเข้าไปทำงานร่วมกับลูกค้าและผู้ใช้ให้สม่ำเสมอขึ้นจึงเป็นแนวทางการทำงานที่ถูกต้องมากกว่า
เพราะความเปลี่ยนแปลงสามรูปแบบที่เล่ามา … เราก้าวเข้าสู่โลกแห่งนอน-โปรเจกต์ (Non-Project) มาสักระยะหนึ่งแล้ว เมื่อความสำคัญของโปรเจกต์ลดลง เมื่อความสำคัญของการทำงานอย่างเป็นวงรอบที่หมุนเร็วเพิ่มขึ้น ประเด็นนี้มันจึงเป็นความคิดที่เข้าท่ามากที่เราจะหลีกเลี่ยงการทำงานอย่างเป็นโปรเจกต์ให้ได้มากที่สุด
ทำได้หรอ?
ทำได้สิ … ถ้าเราเปลี่ยนแนวคิดจากคำว่าโปรเจกต์มาเป็นโปรดักท์ โปรดักท์ในตัวเองไม่ได้เดดไลน์ เพราะถ้าเดดแปลว่าตาย … เราคงไม่อยากให้โปรดักท์เราตายใช่มั้ย? แนวคิดแบบโปรดักท์เน้นการสร้างคุณค่า คุณค่าที่เกิดขึ้นกับทั้งลูกค้าผู้ใช้และทีมงาน ถ้าเราคิดว่าคุณค่าที่มาช้าแปลว่าไม่มีคุณค่า เราจะรู้เลยในทันทีว่าโปรเจกต์ระยะยาวไม่ใช่ทางเลือกที่ดี และเราจะเริ่มต้นคิดถึง
- การคิดฟีเจอร์แบบเฉพาะหน้าจากการเก็บฟีดแบ็คจริงจากการใช้งาน
- การจัดเรียงลำดับความสำคัญของงานด้วยข้อมูลความจริงที่เกิดขึ้น
- การทำงานที่เป็นวงรอบที่ตายตัว
- การปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
การทำงานแบบนี้จึงสร้างผลลัพธ์ได้ดีอย่างรวดเร็วและถูกต้องมากกว่าการทำงานแบบเดิมๆ