สมัยเด็กที่พวกเราเป็นนักเรียนจำกันได้ใช่มั้ยว่าแทบทุกห้องมีเด็กนักเรียนอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือเด็กดีตั้งใจเรียนไม่คุยส่งเสียงดังเวลาอาจารย์สอนอีกกลุ่มก็ตรงข้าม เด็กหลังห้อง อยู่ไม่สุข (บางคนอาจจะสมาธิสั้น) ทนนั่งเฉยๆ ทนฟังอะไรนานๆไม่ได้หลังจากอาจารย์เข้าห้องมาแป๊บเดียวเสียงคุยเริ่มมา จากคนที่หนึ่งคุยกับคนที่สอง จากนั้นสองเป็นสี่ เป็นแปด ผ่านไปไม่นานเด็กครึ่งห้องคุยกันเจี๊ยวจ๊าวไม่มีความเกรงใจใดๆ
ถ้าเป็นสมัยเด็กน้อยเรียนประถมมัธยม อาจารย์คงต้องแหกปากขอร้องให้เงียบเสียง บอกครั้งแรกเหมือนจะได้ผลแต่ผ่านไปอีกแค่ห้านาทีเสียงดังระดับ 80 เดซิเบลก็กลับมาเหมือนเดิม อาจารย์ไม่สามารถดึงความสนใจของเด็กให้มาอยู่ในห้องเรียน ในบทเรียนได้เลย … ยากจริง
โตมาหน่อยในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะวิชาเล็กวิชาใหญ่ ห้องเรียนเล็กห้องเรียนใหญ่ อาการคุยเสียงดังก็มีอยู่ให้เห็นตลอด อาจารย์บางคนก็เลือกจะตะโกนผ่านไมโครโฟนว่า “เงียบหน่อยนักศึกษา” … คิดว่าได้ผลมั้ย? ไม่ได้หรอก นักเรียนตอนเด็กกับนักศึกษาตอนนี้ก็คนๆเดียวกัน ฮ่าๆ ในขณะที่อาจารย์อีกคนที่เจอสถานการณ์เดียวกันนี้เลือกทำในสิ่งที่ตรงข้าม อาจารย์ท่านนี้เลือกจะเงียบ หยุดสอน เดินกลับไปนั่งที่โต๊ะเฉยๆ มองดูความเป็นไปในห้อง
นักศึกษาบางคนที่ตั้งใจเรียนเห็นดังนั้นก็จะเริ่มหันไปมองพวกเชียร์ลีดเดอร์เสียงใสด้านหลัง จากหนึ่งคนมองเป็นสองคนมอง … เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มที่กำลังเม้าท์แตกกันอย่างเมามันบางคนเกิดหูกระตุกขึ้นมาว่า “เฮ้ย เสียงอาจารย์สอนทำไมเงียบไปวะ” เงยหน้าขึ้นมามอง อ่าว อาจารย์หยุดสอนไปแล้ว — เงียบ ไม่เงียบเปล่า เขาสะกิดเพื่อนให้ดูด้วย “แกๆ จุ๊ๆๆ” จากหนึ่งจุ๊เป็นสองเป็นทวีคุณอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ ภายในสิบวินาทีห้องประชุมที่จุคนเป็นร้อยเงียบราวป่าช้า ตอนนี้ความสนใจของทุกคนในห้องอยู่ที่ตัวอาจารย์
อาจารย์ท่านนี้สร้างเรียกร้องความสนใจด้วยความเงียบ — ตรงข้ามกับสิ่งที่พวกเราคิดใช่มั้ยว่าคนที่เป็นจุดสนใจคือคนที่เสียงดังที่สุด? มันตรงข้ามกันเลยต่างหาก วิธีการนี้ใช้ได้ผลแทบทุกครั้ง “เงียบสงบสยบความเคลื่อนไหว”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เงียบไม่ได้แปลว่าโง่ เงียบไม่ได้แปลว่าไม่รู้ เงียบไม่ได้แปลว่าไม่กล้า และคนที่จะอยู่ในจุดสนใจหรือดึงความสนใจของคนอื่นได้เสมอคือคนที่รู้ว่าเมื่อไรควรจะพูดและเมื่อไรควรจะเงียบ