เมื่อเราปิดคอมพิวเตอร์และเก็บกระเป๋ากลับบ้าน น้อยครั้งน้อยคนนักที่จะไม่กลับไปคิดเรื่องงานที่ค้างอยู่ ระหว่างเดินทางกลับ บนโต๊ะอาหาร ตอนนั่งดูทีวี ก่อนนอน และในฝัน มันมีสองรูปแบบกับการคิดตรงนี้
1️⃣ — ความคิดเพื่อสิ่งใหม่และเพื่อแก้ปัญหา มันเป็นความคิดที่สามารถต่อยอดจากจินตนาการได้ เช่น
- เราลุกจากโต๊ะระหว่างที่ยังแก้บั๊กตัวนึงไม่เสร็จ ระหว่างเดินทางกลับเราก็ปล่อยใจสบายๆแล้วในขณะนั้นเองเราก็ฉุกคิดได้ว่า “อ๋อ มันติดตรงนี้นี่หว่า”
- เราถูกลากเข้าห้องประชุมอันแสนน่าเบื่อ ระหว่างที่เราใจลอยไปนอกห้องเราก็สะดุ้งสุดตัวเพราะ “เฮ้ย ทำแบบนี้ไม่เวิร์คแน่ๆ ต้องรีบไปปรึกษาทีมด่วนเลย”
- เราถูกเพื่อนชวนไปกินข้าวกลางวันระหว่างการออกแบบโลโก้ใหม่ บนโต๊ะกินข้าวที่เจี๊ยวจ๊าวไปด้วยเสียงคนเรากลับปิ๊งไอเดียขึ้นมา “เออ ช่ายยย ต้องลองแบบนี้ดูซะหน่อย”
มันเป็นการคิดเพื่อสิ่งใหม่ เพื่อแก้ปัญหาที่ต่างไปจากเดิม เพื่อการทดลองอะไรบ้างอย่างที่น่าสนใจ
2️⃣ — ความคิดอย่างกังวลและกดดันเพราะมันไม่มีสิ่งใหม่ซ่อนอยู่ในงานที่เราทำค้างอยู่ มันไม่มีทางลัดไม่มีทริคไม่มีแนวคิดนอกกรอบใดๆที่จะทำให้เราทำงานนั้นเสร็จได้เร็วขึ้น … นอกจากการลงแรงมากกว่าเดิม
- เราลากสังขารตัวเองขึ้นเตียงนอนเพราะเหนื่อยล้ามาจากการทำงานทั้งวัน ก่อนหลับไปสมองเราจะไม่สามารถคิดอะไรที่ฉีกแนวได้เลยเพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่า “ตัวเลขบัญชีที่ไม่ลงตัวของเดือนนี้มันไม่มีความคิดแปลกใหม่แบบไหนที่ช่วยได้นอกจากเราต้องไล่หาตัวเลขที่หายไปใหม่อีกรอบ และอีกรอบ และอีกรอบ จนกว่าจะเจอ”
- เราตักข้าวเข้าปากอย่างเซ็งๆด้วยสมองที่ตื้อตันเพราะเรารู้แก่ใจว่าไม่มีความคิดแปลกใหม่แบบไหนที่จะช่วย “ให้เราตามเก็บเรคคอร์ดสินทรัพย์ทั้งหมดในบริษัทนี้ได้เร็วขึ้นนอกจากเราต้องทำมากขึ้นเร็วขึ้นและถูกต้องทั้งหมดด้วยตัวเองเพียงลำพัง”
- เรานั่งดูหนังในโรงด้วยความตั้งใจจะผ่อนคลายแต่มันก็อดใจไม่ได้ที่จะนึกถึงงานที่ค้างอยู่ ด้วยภาระความกดดันเราไม่สามารถหาแนวคิดอะไรดีๆที่จะช่วยให้ “การเขียนเอกสารฉบับนี้เสร็จเร็วขึ้นกว่าเดิมเลยนอกจากเราต้องทำงานมากกว่านี้อยู่ดึกกว่านี้และนอนน้อยกว่านี้”
มันคือความแตกต่างของลักษณะงาน แบบแรกคืองานสร้างสรรค์งานที่เปิดช่องให้เราใช้จินตนาการในการรังสรรค์ผลงานอย่างค่อนข้างมีอิสระ (โปรแกรมเมอร์ เอ็นจิเนียร์ และดีไซเนอร์) ความแปลกใหม่ถูกคิดค้นขึ้นได้ทุกวัน การผสมผสานระหว่างศาสตร์ที่หนึ่งและสองสร้างสิ่งที่น่าตื่นเต้นได้อยู่ตลอดเวลา มันอาจจะเวิร์คหรืออาจจะไม่เวิร์ค มันอาจจะยั่งยืนหรืออาจจะฉาบฉวย แต่มันคือโอกาสเพื่อการคิดสำหรับอนาคต
แบบที่สองคืองานที่ตายตัวด้วยกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และสังคมที่ตายแล้ว (บัญชี แอดมิน หรือกฎหมาย) ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงหลักการที่ตายไปแล้วได้ หนึ่งบวกหนึ่งคือสองและงบดุลคือตัวเลขทางบัญชีของทั้งสองฝั่ง (ทรัพย์สินและหนี้สิ้น) ต้องเท่ากันเสมอ มันไม่ต้องการสิ่งแปลกใหม่ มันไม่ต้องการจินตนาการ มันต้องการแค่ความถูกต้องแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและนั่นหมายถึงการลงแรงให้มากกว่าเดิมเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น
เราทำงานแบบไหนอยู่? เราแบกภาระทางจิตใจด้วยความรู้สึกแบบไหน? ระหว่าง “เฮ้ มันน่าสนุกดี การแก้ปัญหาแบบใหม่ๆด้วยทางเลือกแบบไม่จำกัด” หรือ “อืม ก็แค่ต้องขยันกว่านี้”
ทุกคนต้องเคยตกอยู่ในสถานการณ์ทั้งสองแบบครับ ไม่ใช่เรื่องแปลก ความสมดุลคือสิ่งสำคัญ การพัฒนาคือสิ่งสำคัญ … ถ้าเราคิดแบบนี้เราก็ควรหาวิธีที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตอยู่กับการทำงานแบบที่หนึ่งมากขึ้นในทุกๆวัน
การทำงานแบบที่สองนั้นจำเป็นและเราควรได้โอกาสสัมผัสมันบ้าง แต่ไม่ควรอยู่กับมันนานเกินไป เราควรได้โอกาสคิดเพื่ออนาคตคิดเพื่อสิ่งแปลกใหม่ เพราะความสนุกและท้าทายในชีวิตมันอยู่ตรงนั้น ⛰