👓 มองเห็นอนาคต

ในขณะที่ใครๆก็หาข้อมูลได้ … หนังสือ บทความ ข่าว อินเตอร์เน็ต ข้อมูล, สถิติ, และความจริงเหล่านั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของทุกอย่าง

สิ่งที่ผมต้องการคือความคิดเห็น สิ่งที่ผมต้องการคือการคาดการณ์เรื่องราวในอนาคตที่มีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่หามาได้เหล่านั้น

“ผมคิดว่าถ้าเราออกฟีเจอร์นี้ไปแล้วน่าจะทำให้ลูกค้ากลุ่มอายุระหว่าง 20–29 ปีมียอดใช้จ่ายผ่านระบบของเรามากขึ้น” — คาดการณ์ว่าสิ่งที่ทำจะส่งผลอย่างไรต่อดีมานด์ของลูกค้า

“แต่หนูคิดว่าถ้าคู่แข่งเห็นเขาคงรีบก๊อบปี้เราเลยหละค่ะ” — คาดการณ์ว่าคู่แข่งจะมีปฏิกิริยาอย่างไร

“ก็อาจจะเป็นไปได้แต่พี่กลับคิดว่าตอนนี้พวกเขาน่าจะยุ่งวุ่นวายกับการออกโปรดักท์เวอร์ชั่นใหม่แถมทีมงานเขาก็โดนดึงตัวไปที่อื่นแล้วหลายคน เขาอาจจะยอมเรารอบนี้ แต่พี่ห่วงว่าปีหน้านี่สิ พี่กลัวว่าเด็กรุ่นใหม่จะประหยัดค่าใช้จ่ายรายวันเพื่อเก็บเงินไว้ท่องเที่ยวซะมากกว่า เทรนด์มันกำลังมาแรง” — คาดการณ์ว่ากระแสของโลกและสังคมกำลังพัดไปทางไหน

“ผมอ่านเจอเมื่อไม่นานมานี้ว่าระบบแบบของเราก็กำลังเริ่มที่ต้องการขององค์กรธุรกิจขนาดกลางและใหญ่แล้วนะครับ หรือว่าเราควรพิจารณาขยายตลาดไปทางนั้นบ้าง?” — คาดการณ์ว่าโอกาสใหม่อยู่ตรงไหน

“ก็ไม่เลวนะถ้าเราจะลองศึกษาเรื่องนี้สักหน่อย แต่ที่พี่ห่วงมากคือการขายให้ธุรกิจมันไม่ง่าย ขั้นตอน กระบวนการ เส้นสาย รวมๆแล้วเราอาจจะต้องลงแรงและเวลาเยอะมากเพื่อปิดการขายสักรายนึง แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็นระบบเช่าแทนขายขาดราคาแพงก็อาจจะช่วยบรรเทาปัญหานี้ไปได้บ้างมั้ง” — คาดการณ์ความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ถ้ามีเวลา 30 นาที … พูดเรื่องข้อมูลตัวเลขแค่ห้านาทีก็พอ ที่เหลือเราต้องถกประเด็นเรื่องการคาดการณ์ต่างๆ ตรงนั้นคือความรู้และข้อสรุปที่คนอื่น (คู่แข่ง) ไม่มีและหาไม่ได้ ตรงนั้นคือข้อได้เปรียบมหาศาล

ผมพยายามให้น้องในทีมทุกคนสร้างความคิดเห็นส่วนตัวขึ้นมากับทุกเรื่อง

  • อย่าตอบว่า “อะไรก็ได้” — ให้ตอบว่าหนูคิดว่า “………”
  • อย่าตอบด้วยอะไรและเท่าไร — ให้ตอบด้วยการวิเคราะห์ว่าทำไมมันถึงจะเป็นแบบนั้น

การคาดการณ์จะช่วยให้เราคิดแตกต่างและลึกซึ้งกว่าคนอื่น การคาดการณ์จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น และการคาดการณ์คือทักษะที่ฝึกฝนได้ ยิ่งมีคนคาดการณ์ได้เก่งเท่าไรทีมเราก็จะแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น 🔮

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *