👉🏽 เดโม่อย่างไรดี

ผมเพิ่งจัดเดโม่โปรดักท์เวอร์ชั่นแรกให้ลูกค้ารายใหญ่ดูเป็นครั้งแรกครับ

ผลตอบรับดีอย่างน่าปลื้มใจ … นี่คือเทคนิคคร่าวๆที่ผมใช้ และคิดว่ามันน่าจะเป็นเทคนิคที่ดีที่ผมคงจะใช้ต่อไปเรื่อยๆ

1️⃣ — โชว์แต่ส่วนดี

แน่นอน … ใครจะอยากโชว์ส่วนแย่ๆละ 😳 แต่บางครั้งเราก็พลาดเพราะไม่ได้ซักซ้อมมาก่อน เอาให้ชัวร์ครับว่าเราจะเลือกกดเฉพาะปุ่มที่เวิร์คเอาไว้ก่อน

การโชว์แต่เรื่องดีในฟีเจอร์ที่เสร็จสมบูรณ์คือการสร้างความมั่นใจให้คนดูตั้งแต่ต้น

2️⃣ — โชว์ส่วนที่ปรับปรุงได้

ไม่มีงานไหนเสร็จสมบูรณ์ เรารู้อยู่แก่ใจแล้ว ดังนั้นเราเลือกที่จะชี้แจงต่อผู้ชมได้ว่าจุดไหนที่ยังปรับปรุงได้

มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรารู้นะว่าตรงไหนยังไม่เสร็จ เรารู้และไม่ได้ละเลยนะว่างานส่วนนี้ยังไม่ตอบโจทย์ของผู้ใช้อย่างดีพอ

3️⃣ — โชว์ข้อจำกัดและการป้องกัน

ไม่มีซอฟต์แวร์ไหนที่รองรับทุกรูปแบบการใช้งาน ของเราก็เช่นกัน เราควรต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า “นี่ ถ้าคุณทำแบบนี้ระบบจะทำงานไม่ได้นะ” เราควรอธิบายให้พวกเขาเห็นภาพตาม

ในขณะเดียวกัน เราก็จะใช้โอกาสนี้แสดงให้เขาเห็นว่าระบบของเรามีการป้องกันเรื่องผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้เอาไว้แล้ว — “แบบนี้นะครับ ถ้าเราพยายามจะลบไฟล์ที่อยู่ในกระบวนการรีวิว ระบบจะปฏิเสธคำสั่งลบครั้งนี้ครับ” เป็นต้น


ทั้งสามข้อคือการเล่าเรื่องและสื่อสารออกไปให้ผู้ใช้ ผู้ฟัง ผู้ชมรับรู้ว่า “พวกเราคิดไกลและลึกกว่าที่พวกเขาคิดหรือพูดไว้” มันคือการเดโม่ด้วยระบบที่ทำงานได้ดีกว่าที่พวกเขาจินตนาการไว้ มันเป็นเรื่องสำคัญมากครับกับคำว่าความเชื่อมั่น เพราะวัตถุประสงค์ของเดโม่นั้นไม่ใช่เพื่ออวดของหรือตรวจรับงาน มันคือโอกาสในการแสดงความคืบหน้าที่จับต้องได้ มันคือการโปรยอนาคตที่ดีกว่าให้ลูกค้าเห็นและรู้สึกเข้าถึงได้

เพราะเมื่อจบการเดโม่ ถ้าพวกเค้าพูดว่า “อยากใช้เร็วๆจังเลยค่ะ” ผมถือว่าการเดโม่ครั้งนี้ประสบความสำเร็จแล้วครับ ☺️

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *