เรามีหลักการในการเลือกทำโปรดักท์มั้ย?
สองสิ่งที่เป็นปัจจัยที่โดดเด่นมากเมื่อพูดถึงเรื่องนี้คือเทคโนโลยีและเงิน
เทคโนโลยีที่อยู่ในเทรนด์ เทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น การประยุกต์ใช้นั้นหอมหวานและยั่วยวนยิ่งนัก เราคือผู้สร้าง เราคือนักคิดค้น เราคือผู้กำหนดชะตาชีวิตของผู้ใช้ด้วยการสร้างสิ่งใหม่ — บิตคอยน์ บล็อกเชน เอไอ ดีฟเลิร์นนิ่ง เออาร์ วีอาร์ (ที่ยกมา … ผมไม่รู้เรื่องเลยสักอย่าง 🙂) คือสิ่งที่เราเลือกใช้เพื่อสร้างโปรดักท์ของเรา
เงินรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากการทำโปรดักท์นี้เป็นเท่าไร ขนาดตลาด การเติบโต กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คู่แข่ง ขายต่างประเทศ? ขายทั่วโลก? หนึ่งปีขายได้เท่าไร สามปี ห้าปี ระดมทุนรอบสอง รอคนมาเทคโอเวอร์ หรือเข้าตลาดหุ้น? — เงินแทบจะไม่เคยเป็นเรื่องรองในบทสนทนาเพื่อการเฟ้นหาโปรดักท์ที่จะทำ
เทคโนโลยีและเงินนั้นสำคัญมาก ไม่มีใครเถียง แต่ … ผมแค่รู้สึกว่ามีหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันหายไป
เรารู้สึกอย่างไรกับโปรดักท์นี้ถ้าต้องเป็นผู้ใช้?
มันคือการมองผลกระทบต่อบุคคลที่เป็นมนุษย์ มันคือการมองผลกระทบที่มีต่อสังคมโดยรวม บางโปรดักท์ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีที่มาแรงและเพื่อเป้าหมายในการสร้างเงิน ยกตัวอย่างระบบวิเคราะห์และจดจำใบหน้าที่เริ่มแพร่หลาย แน่นอนเทคโนโลยีนั้นล้ำหน้าขั้นสุด (เอไอ แมชชีนเลิร์นนิ่ง ดีฟเลิร์นนิ่ง) และแน่นอนที่สุดคือตลาดใหญ่เงินมหาศาล แต่ … ถ้าเราไม่ใช่ผู้สร้างแต่เป็นผู้ใช้ เราจะรู้สึกอย่างไร?
ระบบที่จดจำหน้าเราได้ ระบบที่วิเคราะห์อารมณ์บนใบหน้าเราได้ และเป็นระบบที่เก็บข้อมูล “ส่วนตัว” ของเราไว้เพื่อหาประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว จินตนาการว่าอีกไม่ช้า (หรือมันอาจจะเกิดขึ้นแล้ว?) จะมีกล้องวิดีโอติดอยู่ตามตู้และเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญเพื่อเก็บข้อมูลใบหน้าผู้ใช้บริการ อายุ เพศ อารมณ์ ต่อเนื่องไปถึงเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลคนที่เดินผ่านไปผ่านมาแถวนั้น คนเยอะมั้ย ชายหรือหญิงเยอะกว่า เวลาไหนคนพลุกพล่าน
เราไม่เคยยอมรับหรืออนุญาตให้ใครมาเก็บข้อมูลพวกนี้เลย เรากำลังโดนละเมิดสิทธิ์อยู่รึเปล่า? ใช่ๆ เรารู้ว่าเฟสบุ๊ค กูเกิ้ล อะเมซอน ก็เก็บข้อมูลออนไลน์ของเราไว้มหาศาล แต่อย่างน้อยบริษัทเหล่านี้ก็มีเงื่อนไขการใช้งานมาให้เราอ่าน (โอเค เราไม่อ่านหรอก) แต่ก็มีการแจ้งให้ทราบ และเราปฏิเสธที่จะไม่ใช้บริการเหล่านี้ก็ได้ แต่กล้องวิดีโอในกรณีนี้? เราได้รับการแจ้งเตือนมั้ย? — คงไม่ เราปฏิเสธการใช้งานบริการเหล่านี้มั้ย? — อาจจะได้แต่ลำบาก ถ้าเราใช้ชีวิตอยู่แถวนั้นละ จะให้เลี่ยงไปที่ไหน?
- ระบบนี้กับสนามบิน — มีประโยชน์แน่นอน เพื่อความปลอดภัย
- ระบบนี้กับสถานีขนส่งต่างๆ — มีประโยชน์แน่นอน เพื่อความปลอดภัย
- ระบบนี้กับหน่วยงานราชการและธนาคาร — มีประโยชน์แน่นอน เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายต่างๆ
กับเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เราในฐานะผู้ใช้ (หรือเหยื่อ) ได้อะไรกลับมาจากการถูกลักลอบดึงข้อมูลส่วนตัวไป ไม่มี … มีแต่บริษัทเหล่านั้นที่ได้ เพื่อการทำการตลาดที่ดีขึ้น เพื่อการคิดค้นหากลยุทธ์มาขายของให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น นั่นไม่ใช่ประโยชน์ของเรา แต่เป็นของพวกเค้า … บนข้อมูลส่วนตัวของเรา
- ผมไม่อยากได้การตลาดที่ดีขึ้น
- ผมไม่อยากเห็นโฆษณาที่เหมาะกับตัวผมมากขึ้น
- ผมไม่อยากเห็นโปรโมชั่นที่ไม่ตรงความต้องการของผม “ตอนนี้”
- ผมแค่ไม่อยากให้ใครมาละเมิดความเป็นส่วนตัวของผม … ได้มั้ย?
ความรู้สึกของผู้ใช้หรือลูกค้าจะเป็นอย่างไรเมื่อต้องสัมผัสกับโปรดักท์ของเรา มันสำคัญมากๆที่ต้องคิดให้ลึก ต้องวิเคราะห์อย่างเป็นกลางและเอาใจเขามาใส่ใจเรา … ถ้าเราต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นเราจะรู้สึกอย่างไร? ชอบ ไม่ชอบ รู้สึกโอเค หรือรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ
การสร้างโปรดักท์จึงไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีและเงิน มันเป็นเรื่องของมนุษย์และความเข้าใจถึงจิตใจของมนุษย์เสมอมา การคิดและตัดสินใจเลือกของเรามีภาระอันหนักอึ้งอยู่บนบ่า — สิ่งที่ฉันกำลังจะทำส่งผลอะไรต่อสังคม สิ่งที่ฉันกำลังจะทำสร้างประโยชน์อะไรให้ผู้คนในชุมชน ถ้าเรายังตอบคำถามตรงนี้ไม่ได้อย่างชัดเจน … เทคโนโลยีและเงินยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญรองลงมาเท่านั้น 🤟🏼