ผมเพิ่งได้คุยกับน้องนอกวงการซอฟต์แวร์คนนึงครับ น้องมีคำถามที่น่าสนใจดังนี้
“พี่ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าคนทั่วไปมีกระบวนการเลือกซื้อซอฟต์แวร์ยังไงคะ?”
ผมตอบไปโดยยกตัวอย่างจากตัวเองดังนี้
- พี่ต้องรู้ก่อนว่าปัญหาคืออะไร
- พี่ต้องมีความใส่ใจเพียงพอที่จะแก้ปัญหานั้น
- พี่เริ่มค้นหาเครื่องมือที่จะมาช่วยพี่แก้ปัญหาได้
- พี่เริ่มทดลองใช้และเปรียบเทียบตัวเลือกต่างๆ
- พี่ตัดสินใจซื้อหรือใช้ต่อหรือเลิกใช้และทนอยู่กับปัญหาต่อไป
เช่น พี่รู้ว่าพี่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการงานในบริษัท พี่อยากแก้ไขเรื่องนี้ พี่เริ่มออกช้อปปิ้งบนอินเตอร์เนทเพื่อหาตัวเลือก …
พี่ลองซอฟต์แวร์หลายตัวมาก เปรียบเทียบแล้วก็ส่งต่อให้เพื่อนในทีมลองด้วย จนสามเดือนผ่านไปก็สรุปได้ว่า
- พี่ใช้เทรลโล่แทรคงาน (ฟรี) — ตอนนู้นน
- พี่ใช้สแลคไว้คุยงานสื่อสารกัน (ฟรี)
- พี่ใช้ดรอปบ๊อกซ์ไว้แชร์เอกสาร (ฟรี)
- พี่ใช้บิตบักเกตไว้เก็บซอร์สโค๊ด (ฟรี) และ
ประมาณนี้ครับ
ประเด็นที่ผมได้ฉุกคิดระหว่างที่ผมกำลังตอบคำถามน้องเขาอยู่นั้นคือ
- ทุกคนเริ่มจากปัญหา
- ทุกคนต้องการแก้ไขปัญหา
- ทุกคนรวบรวมตัวเลือก
- ทุกคนทดลอง และ
- ทุกคนตัดสินใจ
มันคือห้าขั้นตอนมาตรฐานที่วนไปเรื่อยๆจากซอฟต์แวร์หนึ่งมาอีกซอฟต์แวร์หนึ่ง ปัญหาอาจจะคงเดิมแต่ทางแก้เปลี่ยนไปตามการหมุนไปของโลกและเทคโนโลยี ห้าปีที่แล้วเราสื่อสารผ่านอีเมลเป็นหลักแต่ทุกวันนี้ต้องเป็นการแชทผ่านแอพ
มันคือห้าขั้นตอนที่เราในฐานผู้สร้างซอฟต์แวร์ต้องพยายามทำความเข้าใจและปรับตัวไปกับมัน ตั้งแต่ความเข้าใจในปัญหาจนถึงการเข้าถึงใจและอารมณ์ของผู้ใช้ตอนจะตัดสินใจเลือก
มันคือห้าขั้นตอนที่ผู้ชนะทุกคนทำได้ดีกว่าคู่แข่งรายอื่น และมันก็ยากสาหัสสากรรจ์ทีเดียว 😩