ในหนึ่งวัน … ดีเวลลอปเปอร์อย่างเราทำอะไรได้บ้าง?
นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้เพิ่มเติมเมื่อไม่นานมานี้
แน่นอนเราเขียนโค๊ดได้ … ทุกวัน แต่คำถามคือเราสร้างความคืบหน้าให้กับงานหรือไม่? คำถามคือเราเพิ่มคุณภาพเข้าไปในซอฟต์แวร์ของเราทุกวันรึเปล่า? การหาคำตอบเรื่องนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก
โค๊ดที่เราเขียนเพิ่มเข้าไป ฟีเจอร์ที่เราสร้างขึ้นมาจะใช้งานได้ดีจริงรึเปล่า? จะคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปมั้ย? — ไม่มีใครรู้ … แต่เรารู้อย่างแน่ชัดเกิน 100% ว่าโค๊ดนั้นจะมีบั๊กแน่นอน อย่าเถียงและอย่าเฉไฉ ย้ำอีกครั้งว่าโค๊ดชุดนั้นจะมีบั๊กแน่นอนอยู่แค่ว่าจะบั๊กมากหรือน้อยจิ๊บจ๊อยหรือรุนแรง
กลับมาที่คำถามเดิมว่าเราเพิ่มคุณภาพเข้าไปในซอฟต์แวร์ของเราทุกวันรึเปล่า? ให้ตอบตอนนี้คือ “ไม่ใช่”
นอกจากเราจะเริ่มต้นมองเรื่องนี้เสียใหม่ มันมีกิจกรรมอยู่ประเภทหนึ่งที่ดีเวลลอปเปอร์อย่างเราทุกคนทำได้ทุกวันเพื่อเพิ่มคุณภาพเข้าไปในงานของเรา เพื่อสร้างความคืบหน้าที่เป็นของจริงจับต้องได้ให้กับซอฟต์แวร์ของเรา
กิจกรรมที่ว่าคือการแก้บั๊ก 🐞
ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าการแก้ไขข้อผิดพลาดในงานคือการทำให้หลายๆอย่างดีขึ้น ซอฟต์แวร์ที่บั๊กน้อยลง ซอฟต์แวร์ที่ลดความหงุดหงิดให้กับผู้ใช้ ซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพและสร้างแรงบันดาลใจดีๆให้กับทีมงานผู้สร้าง
ถ้าอยากใช้เวลาให้หมดไปอย่างเกิดประโยชน์ — แก้บั๊กซิ (ผมรู้แล้ว หลายคนรู้มานานแล้วแต่อีกหลายต่อหลายคนก็ไม่เข้าใจ คิดว่าการแก้บั๊กคือการย่ำอยู่กับที่ไม่เหมือนการทำฟีเจอร์ใหม่ๆ — อาเมน 🙏🏽)
ทุกวันนี้ทีมผมเขียนโค๊ดกันทุกวัน ที่สำคัญพวกเขาแก้บั๊กกันทุกวัน หลายครั้งที่เจอปุ๊บแก้ปั๊บตอนที่แผลยังสดๆใหม่ๆ ตอนแรกผมก็รู้สึกติดบ่วงและไม่ก้าวหน้าแต่มาคิดอีกทีมันไม่ใช่เลย นี่แหละความก้าวหน้าที่แท้จริง … ถ้าเรายึดคำว่าคุณภาพของงานเป็นปรัชญาในการสร้างธุรกิจ
ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างเป็นแคมเปนจ์ประจำบริษัทแต่อย่างใด แต่ตอนนี้เหมือนจะเป็นเช่นนั้นไปแล้ว “อะ บั๊ก อะ เดย์”