เคยบ่นกับตัวเองมั้ยว่า “งานที่ตัวเองและทีมกำลังทำอยู่มันไม่ดีพอ” — ใช้ยาก ไม่เรียบร้อย ขยะเยอะ คุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามที่สัญญาไว้ ไม่เสถียร ต่อยอดยาก เสร็จช้าเกินไป … อื่นๆ
คนทำงานทั่วไปมีสองประเภท
- ทำๆไปตามหน้าที่ตามสั่ง ได้แค่ไหนแค่นั้น ไม่บ่นไม่หงุดหงิด — นี่ไม่ใช่ฉัน
- ทำๆไปตามหน้าที่ตามสั่ง ได้แค่ไหนแค่นั้น แต่บ่นและหงุดหงิด — ฉันเอง
ที่บ่นที่หงุดหงิดเพราะอะไรรู้มั้ย? เพราะเรามีความรู้สึกที่เซ้นซิทีฟต่อคำว่าคุณภาพมากกว่าคนอื่น เพราะลึกๆแล้วเราตั้งมาตรฐานการทำงานไว้สูงกว่าใครๆ น่าเสียดายที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความแตกต่างตรงนี้ทั้งที่เราเลือกที่จะเป็นคนกลุ่มที่สามได้ — คนที่บ่นและหงุดหงิดแต่ทำอะไรบางอย่างกับเรื่องนี้
มันเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ทุกคนในทีมมีความรู้สึกต่อคำว่าคุณภาพเท่าเทียมกันแต่ผมมองว่ามันจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีใครสักคนที่มีมาตรฐานสูงกว่าคนอื่นในบางเรื่อง … ทีมงานของผมมีสองคนที่ดูแลเรื่องนี้โดยไม่รู้ตัว
- ผมเป็นหนึ่งคนที่ใส่ใจอย่างมากเรื่องการออกแบบที่ดี การสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้ที่เข้าใจง่าย กระบวนการทำงานภายใน การวางแผนธุรกิจ การติดต่อพูดคุยกับพาร์ทเนอร์และลูกค้า
- เพื่อนผมอีกคนหนึ่งมาคนละสาย เขาเป็นคนที่มีมาตรฐานสูงในเรื่องทางเทคนิค การออกแบบระบบ การเขียนโค๊ด การเทส ระบบการบิ้วด์และดีพลอย ทุกอย่างเขาเป็นคนดูแล
ผมและเพื่อนคนนี้ทำหน้าที่เป็นคนยกระดับคุณภาพของงานทุกด้านอย่างไม่รู้ตัว ถ้าเห็นส่วนไหนไม่ถูกใจไม่ได้ตามมาตรฐานผมจะต้องเบรค ถ้าเห็นส่วนไหนละเลยเรื่องความเรียบร้อยและคำว่าคุณภาพเพื่อนผมจะต้องเข้าไปมีส่วนช่วย
ผมเห็นว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างทีมที่ดีนะครับ ถ้าเราเลือกที่จะเป็นได้ ขอให้เป็น Quality Raiser ในส่วนงานที่เราถนัด / ถ้าทีมเลือกได้ ขอให้เลือกหาคนที่ขี้หงุดหงิดและไม่ยอมปล่อยให้เรื่องแย่ๆผ่านไปง่ายๆ
เพราะโปรดักท์ที่ดีถูกสร้างจากทีมที่ดี การยกระดับคุณภาพของโปรดักท์จึงเป็นเพียงผลพลอยได้จากการยกระดับทีมงานที่สร้างมันขึ้นมา … มันสำคัญมากที่จะต้องมีคนคอยวิจารณ์และเตือนสติด้วยความจริงใจว่า “นี่ยังไม่ดีพอ”
มันคือ Quality Raisers — ด้วยการเติม ‘s’ บอกให้เห็นชัดเจนว่าเป็นพหูพจน์เพราะต้องมีหลายคน ต้องช่วยกันหลายฝ่าย ช่วยกันยกระดับนิยามคำว่าคุณภาพของงานอย่างต่อเนื่อง
แต่มันไม่ใช่ Quality Leaders — เพราะผมและเพื่อนคนนี้ไม่ใช่หัวหน้าทีม ไม่มีใครเป็นลูกน้องผมทั้งสิ้น การยกระดับคุณภาพทำได้ด้วยการตั้งคำถามที่ท้าทาย การระดมความคิดจากคนทั้งทีมเพื่อก้าวข้ามความธรรมดาๆตรงนั้น
และมันก็ไม่ใช่ Quality Owners — เจ้าของคุณภาพ? … มันไม่ควรเป็นตำแหน่งของใครคนใดคนหนึ่งแต่มันเป็น “หน้าที่” ของทุกคนในทีมที่ต้องพึงระลึกและแบกรับ