ผมเคยทำงานอยู่ในองค์กรที่เรียกตัวเองว่าเป็น “โปรดักท์-ดริ๊ฟเว่น คอมพานี” (Product-Driven Company) แปลความได้ว่า “บริษัทที่ถูกขับเคลื่อนโดยสินค้า”
ในขณะที่อีกหลายบริษัทเลือกจะเรียกตัวเองว่าเป็น
- ดาต้า-ดริ๊ฟเว่น (Data-Driven): ขับเคลื่อนข้อมูลและสถิติ
- เอนจิเนียริ่ง-ดริ๊ฟเว่น (Engineering-Driven): งานวิศวกรรมมาก่อน
- ดีไซน์-ดริ๊ฟเว่น (Design Driven): งานออกแบบเป็นพระเอก
- คัสโตเม่อร์-ดริ๊ฟเว่น (Customer-Driven): ลูกค้ามาก่อน หรือ
- โพโพส-ดริ๊ฟเว่น (Purpose-Driven): ทำทุกอย่างด้วยจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน
สำหรับผมคิดว่ามันเป็นคำนิยามที่ดีนะ “โปรดักท์-ดริ๊ฟเว่น” มีความหมายแฝงว่าเราจะให้ความสำคัญกับสินค้าของเราเป็นอันดับแรก แต่ในเวลาเดียวกันคำนี้มันมีความกำกวมอยู่ อย่างที่เรารู้กันนั่นแหละ คำว่า “โปรดักท์” นั้นมีขอบเขตกว้างขวาง การสร้างโปรดักท์ที่ดีขึ้นมามันต้องเกิดจากการร่วมมือกันของคนหลายคนหลายแผนกหลายฝ่ายแต่ในบริบทนี้จากประสบการณ์ที่เห็นมาเมื่อพูดถึงคำว่า “โปรดักท์” คนที่เป็นพระเอก คนที่กุมพวงมาลัยเท้าเตะคันเร่งคือคนที่อยู่ฝ่ายธุรกิจ คนที่คิดโปรดักท์ คนที่ติดต่อลูกค้า คนที่อยู่ฝ่ายขาย ผู้บริหารด้านการค้า
เราถึงได้เห็นโปรเจกต์ด่วน เพิ่มรีไควเม้นต์ ตัดเวลาเทส ยกเลิกโปรดักท์ที่ทำมาแล้วครึ่งทาง ยุบทีม ย้ายทีม เพิ่มคน และเรื่องแนวนี้อีกหลายเรื่อง สาเหตุเพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า “โปรดักท์” = “ฝ่ายธุรกิจ”
ผมมองอีกอย่างหนึ่งว่า คำว่า “โปรดักท์” = “ฝ่ายธุรกิจ” + “ฝ่ายผลิต” เราลืมฝ่ายผลิตไม่ได้ เราให้ความสำคัญกับฝ่ายธุรกิจเหนือฝ่ายผลิตแบบลำเอียงไม่ได้ … ในทุกเรื่อง เช่น อำนาจตัดสินใจ สิทธิ์เสียงในที่ประชุม ระดับการดูแลพนักงาน
ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหนหรือช่วงอายุไหนของบริษัท มันจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องยึดหลักการ “โปรดักชั่นท์-ดริ๊ฟเว่น” ไว้เสมอ … ทุกบริษัท (โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอทีหรือซอฟต์แวร์) เริ่มต้นมาจากการผลิตทั้งสิ้น เมื่อวันเวลาผ่านไป เมื่อสิ่งล่อใจเพิ่มเข้ามา ฝ่ายธุรกิจจะกลายเป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวที่ขับเคลื่อนบริษัทให้เดินไปข้างหน้า มันไม่ถูกต้อง มันคือความเสี่ยง และมันคือที่มาของความเสื่อม ของแบบนี้เมื่อเสื่อมแล้วจะทำให้มันฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิมนั้นยากหรือถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย 😢