ลองถามโปรเจกต์ เมเนเจอร์ในทีมตัวเองดูว่า “อะไรคือทักษะที่สำคัญที่สุดของงานนี้? ขอสองข้อ” — จะมีใครตอบเหมือนที่ผมคิดมั้ย
อันดับสอง — ภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership)
โปรเจกต์ เมเนเจอร์ — ลงท้ายด้วย “เมเนเจอร์” ที่แปลว่า “ผู้จัดการ” ใครๆก็ต้องคาดหวังว่าเราต้องมีความสามารถในการจัดการที่ดีถึงได้มาซึ่งตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ … การทำงานในหนึ่งโปรเจกต์มันต้องการการจัดการที่มากมายในหลากหลายส่วน — ในกรณีนี้ภาวะความเป็นผู้นำแปลว่าอะไร? มันแปลว่า
การเป็นผู้ตามในจุดที่เหมาะสมและพร้อมเป็นผู้นำเมื่อจำเป็น
จินตนาการงานพัฒนาซอฟต์แวร์สักตัวนึง มันเกี่ยวข้องกับงานด้านการออกแบบระบบ ออกแบบยูไอ เขียนโค๊ด ทดสอบ และดีพลอย ในแต่ละส่วนต้องการความรู้และทักษะที่ต่างกันไป อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือภาวะความเป็นผู้นำจากแต่ละส่วนเพื่อจัดการงานต่างๆให้เป็นไปโดยเรียบร้อย
โปรเจกต์ เมเนเจอร์ที่ดีต้องเข้าใจไดนามิกของภาวะความเป็นผู้นำตรงนี้ ต้องมองให้ออก วิเคราะห์ให้ได้ว่าเมื่อไรเราควรเป็นผู้ตามเมื่อไรควรเป็นผู้นำ ถ้าทีมนี้มีหัวหน้าทีมพัฒนาที่แข็งแรง เรื่องงานเขียนโค๊ดและงานเทสเป็นสิ่งที่เค้าจัดการได้ — เราอย่าไปแทรกอย่าไปแซง เราควรเป็นผู้ตาม
แต่ส่วนงานการออกแบบยูไอนี่สิ ไม่มีใครเป็นหลักเลย มีแต่เด็กๆทั้งนั้น — เราต้องเข้าไปช่วยเหลือ เราต้องเข้าไปเป็นหลักยึดให้พวกเขา เราต้องเป็นผู้นำ
การบ้าอำนาจคิดว่าภาวะความเป็นผู้นำคือ “ฉันต้องเดินนำหน้าเสมอ” นั้นผิดมหันต์ แต่การแอบอยู่ในมุมมืดโอนอ่อนตามกระแสของทีมตลอดเวลาก็ใช้ไม่ได้ — Leadership is more of an art than science.
อันดับหนึ่ง — ความสัมพันธ์ (Relationship)
การมีความสัมพันธ์อันดีกับคนที่เราทำงานด้วยเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่โปรเจกต์ เมเนเจอร์ทุกคนควรมีและควรพัฒนาไว้ ทำไม?
งานของเราจะสำเร็จเพราะคนอื่น ไม่ใช่ตัวเอง — (ฟังดูแย่ๆ แต่เป็นความจริง)
ว่ากันเรื่องความรู้และประสบการณ์
- โปรเจกต์ เมเนเจอร์ไม่ (น่าจะ) รู้เรื่องธุรกิจดีไปกว่าโปรดักท์ โอนเนอร์
- โปรเจกต์ เมเนเจอร์ไม่ (น่าจะ) รู้เรื่องการออกแบบระบบดีไปกว่าอะคิเท็ค
- โปรเจกต์ เมเนเจอร์ไม่ (น่าจะ) รู้เรื่องการออกแบบยูไอดีไปกว่าดีไซเนอร์
- โปรเจกต์ เมเนเจอร์ไม่ (น่าจะ) รู้เรื่องการเขียนโค๊ดดีไปกว่าโปรแกรมเมอร์
- โปรเจกต์ เมเนเจอร์ไม่ (น่าจะ) รู้เรื่องการทดสอบระบบดีไปกว่าเทสเตอร์
- อื่นๆ อื่นๆ
ว่ากันเรื่องหน้าที่การทำงาน
- โปรเจกต์ เมเนเจอร์ไม่ (ควร) ต้องมานั่งออกแบบระบบ ออกแบบยูไอ เขียนโค๊ด ทดสอบระบบ ดีพลอย ซัพพอร์ต (ทำทุกอย่าง — ผมเข้าใจว่ามีบางคนโชคดีได้รับงานพวกนี้ด้วยแต่ความจริงแล้วคือมันไม่ควรและไม่ใช่หน้าที่หลัก)
เมื่อเป็นแบบนี้แล้วงานจะเสร็จหรือไม่อยู่ที่ว่าเราสามารถ “จูงใจ” ให้คนที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆมาร่วมกันทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันได้ดีแค่ไหน
ความสัมพันธ์ที่ดีมันจะมีประโยชน์ตรงนี้ เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน เพื่อนทำงานกับเพื่อนด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ที่ดีสร้างไม่ได้ด้วยตำแหน่งหน้าที่ ความสัมพันธ์ที่ดีสร้างได้ด้วยความเชื่อใจ ความเคารพ และภาวะความเป็นผู้นำ (อ่านข้อแรก)
ผมไม่เชื่อว่าเราจะ “บริหารจัดการมนุษย์” ได้ สิ่งที่เราจะทำได้คือ “จูงใจ สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเป้าหมายที่ชัดเจน” เพื่อให้คนในทีมทุ่มเททำงานไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าใครเชื่อเหมือนผม — คำว่า Leadership + Relationship สำคัญที่สุด และมันคุ้มค่าที่สุดถ้าเราจะพัฒนาตัวเองให้มีสองคำนี้อยู่ในคุณสมบัติประจำตัวครับ 🥳
ป.ล. ไม่ใช่ทักษะการบริหารโครงการอย่างพวกการวางแผน การจัดการความเสี่ยงหรือการสื่อสารไม่สำคัญ — สำคัญ แต่ไม่เท่าสองข้อนี้ คิดง่ายๆว่าต่อให้เราวางแผนได้ดีแต่ทะเลาะกับคนครึ่งทีม / ล่มหรือรอด?
ป.ล. ภาวะความเป็นผู้นำและความสัมพันธ์เป็นทักษะที่พัฒนาได้แต่ยากเพราะมันเป็นเรื่องภายใน อีกความหมายหนึ่งคือมันยากมากที่จะตรวจสอบคุณสมบัติเหล่านี้ตอนสัมภาษณ์งานแค่หนึ่งชั่วโมง