3️⃣ ตัวเลขมหัศจรรย์

เหตุการณ์สมมติ … เมื่อปลายปีที่แล้วทีมเอสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ประจักษ์แก่สายตาคนทั้งบริษัท พวกเขาปิดโปรเจกต์ได้ภายในสามเดือนตามที่ได้รับคำสั่งมา

มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อน่าพิศวงและจะเป็นที่กล่าวขานไปอีกนานเพราะผลกระทบจากเหตุการณ์นี้คือทีมเอได้สร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาแล้ว

“ไม่ว่าโปรเจกต์อะไร คุณมีเวลาสามเดือน … ทำไมหละ? ทีมเอยังเคยทำได้มาแล้ว”

ผู้บริหารนึกอะไรไม่ออกก็พูดได้อย่างเดียวว่า “เอาไปสามเดือน มีเวลาสามเดือน” งานไหนก็ตามที่ไม่เสร็จในสามเดือนถือว่าช้า ห่วย ไร้ผลงาน และต้องได้รับการสืบสวนสอบสวน (บ้าป่าววะ?) 🥵

สามเดือนคือมาตรฐาน มันกลายเป็นเบสไลน์ที่ถูกใช้อ้างอิงไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ด้วยความไม่เข้าใจที่มาที่ไป ไม่เข้าใจเบื้องหลังว่าทำไมทีมเอถึงทำงานเสร็จได้ในสามเดือน … แล้วทำไมทีมบี ซี ดี และอี ถึงไม่มีวันทำได้อย่างทีมเอ

โปรเจกต์จะเสร็จช้าหรือเร็วมีปัจจัยสำคัญสองส่วน

ขนาดของงาน

งานใหญ่ก็ต้องใช้เวลานาน งานยากงานซับซ้อนก็ใช้เวลามากกว่างานง่ายแบบ 1 + 1 = 2 มันคือสามัญสำนึกทั่วไปที่ผู้บริหารทั่วไปไม่อยากจะทำความเข้าใจ สิ่งที่ทีมเอทำไปแล้วอาจจะง่ายมากหรืออาจจะยากมาก สิ่งที่ทีมบีกำลังอยู่อาจจะใหญ่กว่ายากกว่านั้นอีกหลายเท่า … พวกเขาไม่สน เดดไลน์ในสามเดือนท่องไว้

การทำงานร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกคน

ง่ายๆเลย ทีมงานมีความรักใคร่สามัคคีกันแค่ไหน ไม่ได้หมายถึงแค่สมาชิกในทีมเดฟแต่มันคือทุกคนที่เกี่ยวข้องจริงๆ แผนกเดฟ แผนกธุรกิจ แผนกอินฟรา แผนกบ้าๆบอๆอะไรก็ตามแต่ … พวกเขาร่วมงานกันได้อย่างราบรื่นมั้ย? หรือทุกอย่างต้องมีกระบวนการงี่เง่ามาควบคุม ประชุม รีพอร์ต วางแผน โทรตามตัว ส่งเมลตามงาน ไม่รับผิดชอบ โยนความผิด ไม่ใส่ใจ … เรื่องนี้มันแย่แค่ไหนกับโปรเจกต์ของทีมบี ซี ดี และอี … พวกเขาไม่สน เดดไลน์ในสามเดือนท่องไว้

นั่นแหละเหตุผลว่าสิ่งที่ทีมเอทำได้จึงเป็นประวัติศาสตร์เพราะจะไม่มีใครทำได้แบบนี้อีกแล้วแม้แต่กับทีมเอเองก็ตาม… เพราะปัจจัยมันต่างกัน เหตุการณ์คนละเวลากัน การพยายามบังคับให้รถบรรทุกวิ่งเร็วเท่ารถสปอร์ตจึงเป็นเรื่องไร้สาระเกินบรรยาย

สิ่งเดียวที่คำว่า “สามเดือน” จะสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับทุกฝ่ายได้คือ

“ภายในสามเดือน ผมอยากเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ออกมาจากทุกโปรเจกต์”

เพราะถึงแม้เราจะไม่มั่นใจว่าสามเดือนจะเพียงพอต่อการทำโปรเจกต์ให้เสร็จสมบูรณ์หรือไม่ แต่เรารู้อย่างแน่ชัดว่าเวลาเท่านี้มันเกินพอที่จะสร้างอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

โปรโตไทป์ รีลีสแรก ไพลอตเทส เวิร์กกิ้งซอฟต์แวร์ที่มีฟีเจอร์จำกัด … อะไรก็ได้ มันต้องมีบางอย่างที่ทุกทีมทำได้แน่นอนในเวลาสามเดือน และถ้าทำไม่ได้นี่สิ เราถึงเริ่มตั้งคำถามอย่างมีเหตุผลรองรับว่า “มันเกิดอะไรขึ้น” 😰

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *