การทำขนมอบ (เพสทรี, เบเกอรี่) นั้นท้าทายตรงที่มันไม่มีช่องว่างให้ความผิดพลาดเพราะเราไม่สามารถแก้ไขผลงานของเราระหว่างทางได้
ผมดูรายการทำอาหารมามากพอที่จะคุ้นเคยกับคำว่า “มันต้องสมบูรณ์แบบ” มันเป็นคำที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนท่องจนขึ้นใจ มันต้องสมบูรณ์แบบตั้งแต่ต้นจนจบในครั้งเดียวแบบไม่มีการแก้ตัว
ตั้งแต่ร่อนแป้ง, ผสมแป้ง, นวดแป้ง, พักแป้งให้ขึ้นฟู, ปรุงไส้, เตรียมพิมพ์, เตรียมเตาอบ, เข้าอบ, ตีครีม, แต่งหน้า, และจัดเสิร์ฟ
ทั้งส่วนผสม ระยะเวลา เทคนิค ทุกอย่างต้องมาพร้อมกันเราถึงจะได้ขนมชั้นดีออกมาในตอนท้าย มันไม่เหมือนทำอาหารคาวที่เราปรุง, ชิม, ปรับรส, เร่งไฟ, เติมนั่นเสริมนี่ได้ตลอดที่ยังไม่จัดเสิร์ฟ แต่ขนมอบนั้นไม่ใช่ เมื่อเราใส่ส่วนผสมผิดแม้เพียงช้อนชาเดียวมันอาจจะกลายเป็นหายนะได้เลย ไม่มีอะไรช่วยแก้ไขได้ นอกจากทำใหม่ทั้งหมด และเมื่อเราจับมันเข้าเตาอบแล้ว สิ่งเดียวที่ทำได้คือภาวนาให้มันออกมาดี
มันดูว่าจะเป็นงานที่ต้องการรายละเอียด, และต้องการประสบการณ์มากทีเดียว
และมันไม่เหมือนงานที่เราทำอยู่ งานที่เรารู้ว่าความสมบูรณ์แบบนั้นคือเป้าหมายไกลๆที่เราค่อยๆเดินเข้าไปหามันได้ เราลองผิดลองถูก เราแก้ไขระหว่างทาง และเราปรับเปลี่ยนสูตรได้ตามสถานการณ์ เรามองตัวเองว่าเป็นเชฟอาหารคาวมากกว่าเพสทรีเชฟ 🥘 > 🍪
เราเรียนรู้ที่จะมองกฎเกณฑ์ข้อบังคับของอาชีพอื่นเพื่อการศึกษาและปรับใช้กับแนวทางการดำเนินอาชีพของเราเอง
เมื่อพูดถึงคำว่า “งาน” แล้ว มันมีเรื่องที่คล้ายๆกันอยู่ในทุกอาชีพ พ่อครัว บาริสต้า พยาบาล หรือนักธุรกิจ … ถ้าเราแค่เปิดตาและเปิดใจเราจะสามารถหยิบบางส่วนของแต่ละงานมาสร้างแนวคิดและปรัชญาการทำงานของตัวเอง
คนที่มีความชัดเจนในปรัชญาตรงนี้คือคนที่น่าสนใจและน่าร่วมงานด้วยอย่างยิ่งครับ