มันเป็นไอเดียง่ายๆ
“ทำงานมาแล้ว 50 วันจากแผน 100 วันไม่ได้แปลว่างานเสร็จไปแล้วครึ่งทาง” (ถึงแม้ว่าจะเคยมีทฤษฎีที่เป็นเรื่องเป็นราวในการวัดผลด้วยตัวเลขเพียวๆแบบนี้ก็ตาม ลองอ่านเรื่อง Earn Value Analysis ดูครับ)
การวัดผลเชิงปริมาณไม่เคยบอกเรื่องราวทั้งหมด แต่หลายครั้งเราก็หยิบตัวเลขมาเป็นตัววัดและหยิบยกมาเป็นหลักชัยสำคัญ เช่น เป้าหมายเวโลซิตี้ที่ 100 แต้ม, เป้าหมายรีลีสโปรดักท์วันที่ 30 ก.ย., จำนวนลูกค้า 8,000 คนภายในหนึ่งเดือน, สัดส่วนกำไรที่ 25% และอื่นๆ
การกำหนดตัวเลขไม่ใช่เรื่องผิด มันจะผิดก็ตรงให้ความสนใจและทุ่มเทพลังงานทั้งหมดไปกับตัวเลข
- เวโลซิตี้ 100 แต้มส่งผลอย่างไรต่อความพึงพอใจของลูกค้า?
- รีลีสได้ตรงวันที่กำหนดนั้นเพราะการสร้างแรงกดดันที่มากเกินไปให้กับทีมงานรึเปล่า?
- ได้ลูกค้า 8,000 คนในเดือนแรกแล้ววัฒนธรรมในการทำงานถูกทำลายไปด้วยมั้ย?
- สัดส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นแต่ความสามารถในการคิดริเริ่มเพื่อสร้างนวัตกรรมของคนในองค์กรลดลงไปมั้ย?
เรื่องบางเรื่องที่สำคัญก็วัดผลด้วยตัวเลขได้ยาก แต่มันจำเป็นต้องทำ เราจำเป็นต้องเปิดตาเปิดสมองเปิดใจส่วนหนึ่งไว้สำหรับการมองหาข้อมูลเชิงคุณภาพบ้าง ด้วยการตั้งคำถามที่หาคำตอบได้ยากแบบนี้
- เราเข้าใจลูกค้าดีขึ้นรึเปล่า?
- เรายังคงเดินบนเส้นทางที่ถูกต้องมั้ย?
- เราเข้าใจความเป็นไปของทีมงานดีแค่ไหน?
- ทีมงานของเรายังแฮปปี้ดีอยู่มั้ย?
- เราไม่ได้หยิบเอามนุษย์มาแลกกับตัวเลข (เงิน) ใช่มั้ย?
คำถามเหล่านี้มีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด มันคือการสร้างความสมดุลระหว่างเงินและความสุข มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันแต่มันเป็นหน้าที่ของผู้นำที่ต้องสร้างมันขึ้นมาให้ได้ … เพราะนั่นหมายถึงความยั่งยืนที่มีค่ามากกว่าผลประกอบการระยะสั้นมากมายนัก 💚 🥑 🥦