ต่อจากเมื่อวานนี้นะครับ
เมื่อเราเห็นภาพแล้วว่าสตาร์ทอัพอายุน้อยของเรามีความเสี่ยงมากมาย … ทำอย่างไรที่เราจะกำจัดหรือลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงได้เพื่อสร้างความน่าสนใจในแง่ของการลงทุนให้เกิดขึ้น
ความจริงก็คือมันไม่ใช่เรื่องสนุกเท่าไรในการแก้ปัญหาพวกนี้ บางทีเราต้องกลั้นใจและฝืนใจทำสิ่งที่ไม่อยากทำ ต้องเปลี่ยนแผนใหม่หมด ต้องเปลี่ยนทีมงานบางส่วน แต่ถ้ามองในแง่บวกการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ถ้าทำอย่างถูกวิธีจะช่วยให้สตาร์ทอัพของเรามีโอกาสรอดสูงขึ้นในสถานการณ์การแข่งขันที่ดุเดือดครับ
👫 ❌ ลดความเสี่ยงจากทีมผู้ก่อตั้ง — เรื่องนี้ไม่ง่าย ถ้าเราคือผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีในทีมผู้ก่อตั้งที่เป็นคนธุรกิจ เราต้องมองความเป็นไปได้ที่นักลงทุนจะมั่นใจว่าคนที่ดูแลธุรกิจนั้นมีความสามารถมากพอที่จะเป็นซีอีโอที่บริหารบริษัทได้ หรือในทางกลับกันนักลงทุนอาจจะคิดว่าเราเองไม่มีความสามารถพอที่จะสร้างโปรดักท์ตามที่วางแผนไว้ได้ เราอาจจะต้องสลับตัวทีมงานหรือหาคนอื่นที่เหมาะสมกว่าเข้ามาร่วมทีมผู้ก่อตั้งตั้งแต่ตอนแรก
🛍 ❌ ลดความเสี่ยงจากตลาด — เราต้องทำการทดสอบตลาดก่อนในระดับปฏิบัติการ (ไม่ใช่แค่ทฤษฎี) บางครั้งการศึกษาและวิเคราะห์ตลาดในเชิงวิจัยก็ช่วยเราได้แต่มันจะดีกว่ามากถ้าเราลงตลาดเพื่อหาลูกค้าจริงๆเพื่อพิสูจน์ให้เห็นจริงว่ามีตลาดรองรับโปรดักท์ที่เราทำ ยิ่งดีใหญ่ถ้าเราหาลูกค้าที่จ่ายเงินจริงให้เราได้ (ไม่ใช่แค่โครงการทดลอง) หรืออย่างน้อยๆเราต้องหาลูกค้าที่มีเครดิตเพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนได้
🥊 ❌ ลดความเสี่ยงจากการแข่งขัน — ความแตกต่างของสตาร์ทอัพนี้มันมากเพียงพอหรือไม่? เราต้องคิดเรื่องนี้ใหม่ตั้งแต่พื้นฐานเลย สตาร์ทอัพหลายทีมไม่มีความแตกต่างมากเพียงพอตอนที่เปิดตัวโปรดักท์หรือแม้แต่หลังจากที่พวกเขาได้รับเงินลงทุน ซึ่งถ้าเราไม่มีไอเดียที่ดีพอจริงๆว่าเราจะสร้างความแตกต่างหรือข้อได้เปรียบที่เหนือว่าคู่แข่งอย่างไร … เราอาจจะไม่ควรทำสตาร์ทอัพนี้ตั้งแต่แรกก็เป็นได้
⌚️ ❌ ลดความเสี่ยงเรื่องเวลา — ทางเลือกเดียวที่เราทำได้ในกรณีนี้คือต้องมุ่งหน้าทำโปรดักท์ให้มีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆแล้วแสดงให้เห็นว่าเราไม่ช้าไปหรือไม่เร็วเกินไป การหาลูกค้าเข้ามาให้ได้คือสิ่งที่ดีที่สุดของเราในตอนนี้
💵 ❌ ลดความเสี่ยงด้านการเงิน — เราต้องคิดให้หนักๆว่าเราต้องการเงินลงทุนอีกเท่าไรหลังจากการหาเงินในรอบนี้แล้วพยายามวางแผนใหม่เพื่อที่เราจะต้องการเงินน้อยกว่านั้น มันจะเป็นการลดความกดดันของทีมงานลง มันจะช่วยให้เราสร้างวัฒนธรรมในการใช้เงินอย่างประหยัดและมีคุณค่าที่สุด
📢 ❌ ลดความเสี่ยงเรื่องการตลาด — เริ่มที่การสร้างความแตกต่างของโปรดักท์หรือเซอร์วิสที่คมสุดๆ (เพราะถ้าไม่มีเรื่องนี้เราอาจจะไม่สามารถฝ่าเสียงรบกวนในตลาดและโดดเด่นพอที่ลูกค้าจะเห็นเรา) จากนั้นแสดงผลลัพธ์ให้เห็นว่าเราสามารถสร้างรายได้จากลูกค้ามากกว่าต้นทุนที่เราจ่ายไปสำหรับการตลาดและการขายเพื่อได้ลูกค้ามา
🚚 ❌ ลดความเสี่ยงจากการกระจายโปรดักท์ — เรื่องนี้ยากมาก ถ้าแผนของเรามีความเสี่ยงเรื่องการกระจายโปรดักท์ที่ว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากพาร์ทเนอร์รายสำคัญเพื่อทำให้ธุรกิจนี้มันเวิร์ค โดยส่วนตัว (ของมาร์ก) จะแนะนำให้รื้อแผนใหม่หรือไม่ก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นเลย มิฉะนั้นแล้วเราต้องพยายามมองหาและทำสัญญากับพาร์ทเนอร์รายนั้นก่อนถึงจะหาเงินลงทุนได้ซึ่งมันยากมากจนเกือบเป็นไปไม่ได้เลย
🤖 ❌ ลดความเสี่ยงจากเทคโนโลยี — ทางเลือกเดียวของเรื่องนี้คือเราต้องลงมือทำโปรดักท์หรืออย่างน้อยก็ทำเบต้าเวอร์ชั่นให้ได้แล้วค่อยเริ่มต้นหาเงินลงทุน
🖥 ❌ ลดความเสี่ยงจากโปรดักท์ — คำตอบเหมือนข้างบน 👆🏼
👔 ❌ ลดความเสี่ยงจากการหาทีมงาน — ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการหาคำตอบให้ได้ว่าตำแหน่งไหนที่ทำให้นักลงทุนกังวลมากที่สุดแล้วเพิ่มคนในตำแหน่งนั้นเข้ามาในทีมให้เร็ว มันอาจจะหมายถึงการที่เราต้องยอมลดสัดส่วนหุ้นในบริษัทลงไปแต่มันดูว่าจะเป็นทางเลือกเดียวที่เราจะดึงความสนใจจากนักลงทุนมาได้
🗺 ❌ ลดความเสี่ยงจากสถานที่ตั้ง — ข้อนี้อาจจะเป็นคำตอบที่เราไม่ชอบ ถ้าเราไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพแล้วเรากำลังเจอความยากลำบากในการหาเงินลงทุน เราอาจจะต้องย้ายที่ตั้งไปยังพื้นที่ที่มีโอกาสมากกว่า เพราะเงินจะอยู่ที่นั่น ลูกค้าอยู่ที่นั่น ทีมงานอยู่ที่นั่น สื่อก็อยู่ที่นั่นด้วย
ผมเองก็ผ่านเรื่องพวกนี้มาพอสมควรแล้วเหมือนกันครับ บางข้อก็เป็นความเสี่ยงที่คอขาดบาดตายมาก เช่น ข้อแรก — ความเสี่ยงเรื่องทีมผู้ก่อตั้ง แต่โชคดีที่ผมมีทีมงานที่ดีตั้งแต่ต้น
มันก็มีอีกหลายข้อที่ถึงทุกวันนี้ผมยังต้องปวดหัวอยู่กับมัน เช่น ความเสี่ยงเรื่องเวลา — ผมยังไม่แน่ใจเท่าไรว่าไทม์มิ่งของโปรดักท์มันเหมาะสมจริงมั้ย … เหมือนว่ามันมาเร็วเกินไปกว่าที่ตลาดจะตามทัน 😔
ในฐานะผู้นำสตาร์ทอัพ เราต้องศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไว้ครับ ยิ่งดีไปกว่านั้นถ้าเราเริ่มต้นที่จะกำจัดหรือลดความเสี่ยงทั้ง 11 ข้อนี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆเพราะยิ่งความเสี่ยงน้อยลงเท่าไร บริษัทของเราจะดึงดูดทั้งนักลงทุน ทีมงาน ลูกค้า เข้ามาหาได้มากขึ้น เราจะทำงานหนักน้อยลงหน่อย เราจะเห็นความคืบหน้าของธุรกิจได้มากขึ้น และผมบอกเลยจากประสบการณ์ของตัวเองว่า … ไม่มีอะไรที่สร้างความสุขให้ผู้ก่อตั้งได้มากเท่าคำว่า “โปรเกรส” ในสตาร์ทอัพแล้ว 👏🏼👏🏼👏🏼
เรื่องนี้ผมเขียนจากความรู้ที่ได้จากการอ่านบทความที่ดีมากๆของมาร์ก อันเดรสเซ่นครับ
Pingback: ✍🏼 ความเสี่ยง 11 ข้อของสตาร์ทอัพในช่วงเริ่มต้น – ปิโยรส